เพื่อให้ท่านมีความรู้ที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการแทรกซ้อนจากการเข้าเฝือก ขอแนะนำข้อควรทราบและปฏิบัติดังต่อไปนี้
- เฝือกที่ใช้ในปัจจุบันที่นิยมมี 2 ชนิด คือเฝือกปูน และเฝือกไฟเบอร์กลาส แพทย์ส่วนใหญ่ยังนิยมใช้เฝือกปูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีได้รับอุบัติเหตุใหม่ๆ มีเลือดออกทำให้บวมมาก อาจต้องนัดคนไข้มาเปลี่ยนเฝือกภายใน 1-2 สัปดาห์ จะทำให้ประหยัดกว่าการใช้ไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีราคาแพงกว่าและแพทย์ส่วนใหญ่ จะใช้ไฟเบอร์กลาสกรณีที่บวมไม่มากและในกรณีที่จะใส่นานๆ ไฟเบอร์กลาสมีข้อดีที่โดนน้ำจะไม่ยุ่ยง่ายเหมือนเฝือกปูน
- การใส่เฝือกมีจุดประสงค์เพื่อให้ร่างกายส่วนนั้นๆ โดยเฉพาะกระดูกที่หักอยู่นิ่งๆ ดังนั้นระหว่างที่ใส่เฝือกอยู่ถ้าหากเฝือกหลวมเพราะร่างกายส่วนที่เข้าเฝือก ยุบบวมลง จะมีผลทำให้กระดูกที่หักเคลื่อนที่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเฝือกเป็นระยะๆ จนกว่ากระดูกจะติดกันดี โดยทั่วไปเฝือกที่ใส่ครั้งแรกจะต้องเปลี่ยนภายใน 1-2 สัปดาห์
- หลังใส่เฝือกควรยกส่วนปลายเฝือก ให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่นๆ เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจดีขึ้น ปลายมือปลายเท้าจะได้ไม่บวมมาก
- ภายหลังใส่เฝือก ถ้าปลายมือปลายเท้าบวมมากจนปวดมากผิดปกติ, ชาตลอดเวลา, ขยับปลายนิ้วมือนิ้วเท้าไม่ได้, หรือบางทีปลายนิ้วเขียวคล้ำหรือซีดเพราะการไหลเวียนของเลือดไม่ดี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาแก้ไขทันที
- หลังใส่เฝือก ถ้าเฝือกหักหรือยุ่ยเพราะโดนน้ำจะต้องรีบมาหาแพทย์ แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดนัดก็ตามเนื่องจากอากาศร้อนและชื้น การใส่เฝือกจะทำให้มีอาการคัน เหม็นกลิ่นเหงื่อที่ออกมาอยู่ในเฝือก ไม่ ควรเอาไม้หรือโลหะสอดเข้าไปภายในเฝือกเพื่อจะลดอาการคัน บางครั้งจะทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังภายในได้
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์