เชื้อนิวโมคอคคัส

เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Streptococcus pneumoniae เป็นแบคทีเรียที่สำคัญ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่มีความรุนแรง ตั้งแต่น้อยไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถพบได้ในทางเดินหายใจของคนทั่วไป โดยผู้ที่มีเชื้อนิวโมคอคคัสในร่างกาย อาจมีอาการแสดงของการเป็นโรค หรืออาจไม่เป็นโรคก็ได้ ผู้ที่มีเชื้ออาศัยอยู่โดยไม่ได้เป็นโรค เรียกว่าเป็นพาหะ ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวกมี 90 กว่าสายพันธุ์ (serotype) และ 42 serogroup โดยมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในมนุษย์ โดยทั่วไปพบเชื้อนี้ได้ในทางเดินหายใจส่วนต้น โพรงจมูก และคอหอย เชื้อนิวโมคอคคัสสามารถแบ่งตัวได้ดีในปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ และแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบสมอง และไขสันหลังทำให้เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยผู้ที่มีเชื้อในลำคอจะเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ทางละอองเสมหะหรือน้ำมูก ในเด็กไทยปกติพบเชื้อนิวโมคอคคัสในทางเดินหายใจส่วนต้นประมาณร้อยละ 35-40 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กในช่วงอายุ 2 – 3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่พบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นน้อยกว่าในเด็กมาก โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 แหล่งที่พบเชื้อส่วนใหญ่จะพบในที่ที่มีผู้คนอยู่แออัด เช่น ชั้นเรียน ห้องทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงแรม หอพัก กองทหาร ค่ายผู้อพยพ คุก เป็นต้น

องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่าโรคปอดอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตประมาณ 1.6 ล้านรายต่อปี โดยกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากปอดอักเสบ เป็นเด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา อุบัติการณ์ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะต่ำกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบประมาณ 3,000 ราย ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด 50,000 ราย ปอดอักเสบที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 125,000 ราย และหูชั้นกลางอักเสบ 7 ล้านราย อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงแพร่กระจายในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 24 ต่อประชากรแสนคนในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2562 พบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีอัตราป่วยประมาณ 188 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราป่วย 61 ต่อประชากรแสนคน พบอัตราป่วยต่ำสุดในกลุ่มอายุ 5 – 17 ปี มักพบโรคนี้มากขึ้นในฤดู หนาวซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น หรือในที่ที่แออัด เช่นสถานรับเลี้ยงเด็ก ผู้ที่ป่วยมักจะมีโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว และพบอัตราป่วยตายสูง

การแพร่กระจายของเชื้อ

1.เชื้อนิวโมคอคคัสสามารถกระจายจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ โดยวิธีเดียวกับการติดเชื้อไข้หวัดคือ ละอองเสมหะของผู้ที่มีเชื้ออยู่จะแพร่กระจายไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้โดยการไอ จาม หรือจากการสัมผัสโดยตรง เช่น สัมผัสมือของผู้ป่วยที่เปื้อนเชื้อแล้วไม่ได้ล้างมือ หรือหอมแก้มผู้ที่มีเชื้ออยู่ โรคอาจแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในบริเวณที่มีเด็กอยู่มาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาลเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรงดี จึงมีโอกาสต่อการติดเชื้อสูงขึ้น
2.เชื้อนิวโมคอคคัสเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุบริเวณทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะแพร่จากพาหะ หรือผู้ป่วยโดยตรง เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้ออาจแพร่กระจายไปเยื่อหุ้มสมองทำให้สมองอักเสบ หรือไปที่อวัยวะอื่นเช่น กระดูกและข้อทำให้มีกระดูกและข้ออักเสบ
3.ระยะเวลาการติดต่อ ยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นตลอดเวลาที่มีเชื้อในเสมหะ เด็กเป็นพาหะของเชื้อได้นานกว่าผู้ใหญ่ พบมีเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นเฉลี่ย 2 – 4 เดือน ในขณะที่ผู้ใหญ่เป็นพาหะนาน 2 – 4 สัปดาห์

เชื้อนิวโมคอคคัสทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง หากเกิดกับเด็กทารกจะมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชัก ถ้ารักษาไม่ทันอาจเสียชีวิต หรือพิการ หูหนวก ปัญญาอ่อน
2.การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ เด็กจะมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ถ้ารักษาไม่ทันอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้
3.การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อง
4.การติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดโลหิตเป็นพิษ เด็กจะมีไข้สูง งอแง อาจเกิดภาวะช็อก หรือเชื้ออาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก

อาการ

เชื้อนิวโมคอคคัสมักทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและพบได้บ่อย เชื้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรง ส่วนการติดเชื้อแบบไอพีดีพบได้น้อยมากแต่มีความรุนแรง อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อนี้ เด็กจะมีไข้สูง คอแข็ง งอแง ซึม ไม่ดื่มนม และชัก นอกจากนี้ในผู้ใหญ่จะมีอาการ สับสน และกลัวแสงเนื่องจากมีความไวต่อการรับแสงมากขึ้น หากติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจช็อค และถ้ามีปอดอักเสบเด็กจะมีอาการไข้ ไอ หอบ หายใจเร็ว

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยที่แน่ชัดคือการแยกเชื้อได้จากเลือด หรือสิ่งคัดหลั่งอื่นๆ เช่น น้ำไขสันหลัง เป็นวิธีการที่มีความถูกต้องสูง ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนการรักษา การรักษาทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์อาจให้ยาไปทานที่บ้าน หรือบางรายอาจจำเป็นต้องนอนให้ยาที่โรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อที่ใด ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเพียงใด ในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้รักษายากขึ้น ต้องใช้ยามากขึ้น และผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร โดยทั่วไปการรักษาโรคจะใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Penicillin หรือ Cephalosporins ปัจจุบันพบว่ามีการดื้อยามากขึ้นจึงอาจจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้น โรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีถ้ามาพบแพทย์ และได้เริ่มให้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

การป้องกัน

1.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ
2.สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่ไม่สบาย
3. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง ควันบุหรี่ หรือควันพิษต่างๆ
4.ที่อาจทำให้เกิดอันตราย ต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น

วัคซีนป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัส

ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิต ปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่ได้ผลเล็กน้อยในการป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลางหรือในไซนัส วัคซีนมี 2 ชนิด ได้แก่

1. Polysaccharide vaccine เป็นวัคซีนดั้งเดิม มีใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2520 โดยประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัส 14 สายพันธุ์ ต่อมาปี 2526 เปลี่ยนเป็น PPV23 ประกอบด้วยเชื้อนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ วัคซีนนี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และประสิทธิภาพมีจำกัดจึงใช้เฉพาะในผู้ที่อายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้และผู้สูงอายุเท่านั้น จากข้อมูลในปี พ.ศ.2543 มีผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนนี้ร้อยละ 53

2. Heptavalent Streptococcus pneumoniae protein conjugate vaccine (PCV7) เป็นวัคซีนที่ประกอบด้วย polysaccharide conjugates ที่ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 7 สายพันธุ์ ได้แก่ 4, 6B, 14, 18C, 19F และ 23F ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าดื้อยาจากการศึกษาก่อนเริ่มใช้วัคซีนทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันโรคได้ร้อยละ 97.32 (แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์นอกวัคซีน) ป้องกันโรคปอดอักเสบได้ร้อยละ 35 ป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบได้บ้าง การให้วัคซีนเริ่มให้ในเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือนและฉีดกระตุ้นตอนอายุ 12 – 15 เดือน ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าควรให้วัคซีนที่ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีทุกราย ซึ่ง สามารถเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป พิจารณาให้วัคซีนในเด็กอายุระหว่าง 2-5 ปี ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง เช่น มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปีที่มีโรคเรื้อรัง ก็ควรได้รับการพิจารณาให้วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสด้วยเช่นกัน

อาการข้างเคียงของวัคซีน

เด็กส่วนใหญ่ไม่เกิดอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน อาการที่อาจเกิดขึ้นมักเป็นเพียงเล็กน้อยและคงอยู่ไม่นาน ซึ่งได้แก่ การบวมแดง และเจ็บบริเวณที่ฉีดยา อาการไข้เล็กน้อยถึงปานกลาง เด็กเล็กอาจมีอาการหงุดหงิด งอแง อาการมักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หลังได้รับวัคซีน และมักหายไปภายใน 48 – 72 ชั่วโมง อาการเฉพาะที่และอาการทั่วไปพบได้มากขึ้นในการฉีดวัคซีนครั้งหลังๆ คือมีอุบัติการณ์ ร้อยละ 0.33 หลังการฉีดครั้งแรก ร้อยละ 0.5 ในการฉีดครั้งที่ 2 และร้อยละ 0.7 ในการฉีดครั้งที่ 3 ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีระดับแอนติบอดีสูงอยู่แล้ว

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top