เกลื้อน

เกลื้อน (Tinea versicolor) จัดว่าเป็นโรคติดเชื้อราของผิวหนังชนิดตื้น การติดเชื้อเกิดขึ้นบริเวณผิวบนของผิวหนัง หรือหนังกำพร้าส่วนบนเท่านั้น เกลื้อนเป็นโรคผิวหนังที่แตกต่างจากโรคกลาก เกิดจากการติดเชื้อเกลื้อนที่ผิวหนังชั้นนอกสุด ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นด่างดวง บริเวณที่เป็นโรคมักมีสีอ่อนกว่าสีผิวหนังเดิม หรืออาจเป็นสีน้ำตาล พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อบ มีเหงื่อออกมาก หรือผิวมันในระยะ เริ่มแรกจะปรากฏเป็นดวงเล็กๆ ต่อมาจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายดวงได้ หรืออาจรวมตัวกันขยายเป็นปืนใหญ่ โดยมากเกลื้อนไม่ทำให้มีอาการคัน แต่บางครั้งก็อาจมีอาการคันเกิดขึ้นได้

เกลื้อนพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งหนุ่ม และสาว เพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมาก ผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่กล่าวคือจะเป็นคนผิวมัน มีความต้านทานต่อเชื้อเกลื้อนน้อยกว่าคนทั่วไป ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่อบ ร้อน เหงื่อมาก มีโอกาสเกิดได้ง่ายกว่าปกติ

สาเหตุ

สาเหตุเกิดจากเชื้อยีสต์ที่ชอบไขมันชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณขุมขนใช้น้ำมันที่หลั่งออกมาจากต่อมไขมันเป็นอาหาร ในสภาวะปกติ ยีสต์จะมีจำนวนน้อยไม่ทำให้เกิดโรค แต่ในบางภาวะที่ผิวหนังมันมากๆและอับชื้นเนื่องจากมีเหงื่อชุ่มอยู่กับเสื้อผ้า ยีสต์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเปลี่ยนรูปร่างเป็นชนิดที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน เกลื้อนเกิดจากการกำเริบของเชื้อยีสต์ที่มักอาศัยอยู่ที่ผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว เห็นเป็นรอยจุดขาวตามรูขุมขน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เกลื้อนดอกหมาก” แต่ในบางรายก็อาจเห็นเป็นผื่นสีชมพู สีน้ำตาล จนถึงสีดำก็ได้ อาจมีอาการคันหรือไม่คันก็ได้

อาการ

เกิดผื่นขนาดต่างๆ กัน ส่วนใหญ่สีขาว บางครั้งสีออกชมพู หรือน้ำตาล มีสะเก็ดบางๆ ที่ผิว ไม่มีอาการ แต่ลุกลามเร็ว เกลื้อนทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนังได้ในบางคน แต่อาการส่วนใหญ่ที่นำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ คือ ลักษณะที่มีรอยด่างที่ผิวหนัง ทำให้ดูไม่สวยงาม ดูไม่สะอาด ดวงขาวในโรคเกลื้อนอาจเป็นอยู่นานหลายเดือนผู้ป่วยบางราย ทั้งๆ ที่เชื้อเกลื้อนถูกทำลายด้วยยาแล้ว แต่ดวงขาวยังคงอยู่ทั้งนี้เพราะขณะนี้เป็นโรคเกลื้อน เชื้อราได้สร้างสารเคมีบางชนิดไป กดการทำงานของเซลล์เม็ดสี ดังนั้นดวงขาวในโรคนี้จะกลับมาเป็นผิวสีปกติได้ต่อเมื่อเซลล์เม็ดสี สร้างเม็ดสีกลับมาดังเดิมซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นเดือนในผู้ป่วยบางราย

เกลื้อนสามสี

เกลื้อน ที่พบโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ซึ่งเกิดจากเชื้อราตัวเดียวกัน คือ Malassesia furfur ได้แก่

1. เกลื้อนดอกหมาก มีลักษณะเป็นจุดด่างขาวๆ เป็นหย่อมๆ พบมากที่หลัง อก และสีข้าง คนโบราณเป็นคนช่างเปรียบเทียบ จึงเอาสีขาวบนผิวไปเปรียบกับสีของดอกหมาก และเรียกเกลื้อนว่า “เกลื้อนดอกหมาก” เนื่องจากมีสีขาวคล้ายๆ กัน

2. เกลื้อนสีแดง มีลักษณะคือ ผิวแดงเป็นหย่อมๆ ขนาดครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร ผิวแดงจะปกคลุมด้วยสะเก็ดบางๆ มักพบที่บริเวณเนื้อย่นๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ รอบคอ พบในคนที่รักษาสุขภาพดี แต่ผิวมีเหงื่อซึ่งประกอบด้วยสารบางชนิดที่เหมาะในการเป็นอาหารของเชื้อเกลื้อน

3. เกลื้อนสีดำ เป็นผื่นราบสีดำคล้ำ คลุมด้วยสะเก็ดบางๆ ไม่มีอาการคันขนาดตั้งแต่ 1-2 มม. จนกว้างหลายเซนติเมตร พบบ่อยที่เอว ขาหนีบ รักแร้ ต้นคอ พบในคนมีฐานะดี และสุขภาพดี

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยให้ได้แน่นอนคือ การขูดที่ผิวหนังและตรวจดูเชื้อราด้วยกล้องจุลทรรศน์ รวมทั้งการเพาะเชื้อราในอาหารเพาะเลี้ยงที่เหมาะสม

การรักษา

1. สำหรับการรักษาใช้ยาทาเพื่อลอกสะเก็ดออก เชื้อก็จะหลุดออกไปกับสะเก็ด ทานาน ประมาณ 3-4 สัปดาห์เชื้อก็จะหมดไป แต่ถ้าเป็นเกลื้อนที่กินพื้นที่กว้างทายาไม่ทั่ว อาจใช้วิธีรับประทานเป็นเวลา 10 วันก็ได้ เชื้อจะค่อยๆ หมดไป หลังจากเชื้อหมดแล้ว จะยังคงเหลือรอยขาวอยู่นานหลายเดือน จนกว่าเซลล์สร้างสีจะฟื้นตัว สร้างเม็ดสีขึ้นมาทดแทนใหม่ ผิวหนังจึงจะกลับมามีสีดังเดิม

2. ผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนมีแนวโน้มทางพันธุกรรม ร่วมกับอยู่ในสภาวะเหมาะที่เชื้อราจะเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน การใช้ยาลดการเจริญเติบโตของเชื้อเกลื้อน ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ ยาทา และยารับประทาน

3. ยาทา ได้แก่ ยาน้ำทา เช่น 20% โซเนียมทัยโอซัลเฟต เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นมากๆ ยาฆ่าเชื้อราชนิดครีม ยากลุ่มนี้ได้แก่ clotrimazole ครีมเหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นบริเวณไม่กว้างมาก นอกจากนี้สบู่หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของสารคีโตโคนาโซน หรือสารเซเลเนียมซัลไฟล์ วิธีใช้ยาแชมพูทำดังนี้ ให้ผู้ป่วยอาบน้ำฟอกตัวให้สะอาดด้วยสบู่ ตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วอย่าเพิ่มเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก แต่ใช้แชมพูยาลูบไปทั่วบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้นาน 5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก อย่าปล่อยทิ้งแชมพูยาให้อยู่บนผิวหนังนานเพราะอาจเกิดอาการระคาย จากแชมพูยาได้

4. ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมาก และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะยารับประทานอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ นอกจากนี้ยายังมีราคาแพง

5. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม

การป้องกัน

1. ห้องทำงาน ต้องมีอากาศถ่ายเทดี ไม่อับชื้น เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเทเสมอๆ เปิดม่านออกให้ถูกแสงแดดบ้างในบริเวณห้อง

2. ผู้ที่ทำงานในที่โล่งแจ้ง ร้อน และเหงื่อออกมาก เมื่อมีโอกาสพักเที่ยง น่าจะถอดเสื้อออกผึ่งให้เสื้อแห้งจึงใส่ซ้ำอีกในภาคบ่าย แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเสื้ออีกตัวในภาคบ่าย อย่าใส่เสื้อหมักเหงื่อเปียกตลอดทั้งวัน เพราะเชื้อเกลื้อนชอบความชื้นแบบนั้น เสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ เมื่อซักควรตากแดดร้อนจัด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคด้วย

3. เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนอย่าใช้ปะปนกับคนที่เป็นเกลื้อน หรือเคยเป็นเกลื้อนมาก่อน เพราะอาจติดต่อมายังเราได้ ดังนั้นเสื้อผ้าที่บุคคลเป็นเกลื้อนสวมใส่ เมื่อตนเองหายเป็นเกลื้อนแล้ว ควรนำไปต้มหรือรีดด้วยความร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อจะได้ไม่เป็นซ้ำ การอบผ้าด้วยฟอร์มาลีนสัก 24-48 ชม. จะฆ่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในห้อง พนักเก้าอี้ โต๊ะทำงานได้อย่างดี

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top