คัดจมูก…จะใช้ยาอะไรในวันที่ไม่มี ซูโด

ในช่วงเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ซูโดอีเฟดรีน” ตัวยาหนึ่งในสูตรตำรับยาแก้หวัดคัดจมูกที่นิยมใช้กัน มายาวนาน และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา บางท่านอาจนึกไม่ออกว่าซูโดอีเฟดรีนคือยาอะไร แต่ถ้ายกตัวอย่างยายี่ห้อดัง เช่น แอคติเฟด ซูลิดีน นาโซลิน หรือยาแก้หวัดแบบบรรจุเสร็จ เช่น ทิฟฟี่ ฟู หรือ ดีคอลเจน พลัส เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก หรือเคยรับประทานยาเหล่านี้มาแล้ว เหตุใดยาบ้านๆ อย่างซูโดอีเฟดรีนถึงถูกเปลี่ยนบทบาทจาก “ยารักษาโรค” กลายเป็น “สารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า” แล้วประชาชนอย่างเราจะเลือกใช้ยาชนิดใดทดแทน ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ มีคำตอบมาฝากค่ะ

ช่วงเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ซูโดอีเฟดรีน” ตัวยาหนึ่งในสูตรตำรับยาแก้หวัดคัดจมูกที่นิยมใช้กัน มายาวนาน และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา บางท่านอาจนึกไม่ออกว่าซูโดอีเฟดรีนคือยาอะไร แต่ถ้ายกตัวอย่างยายี่ห้อดัง เช่น แอคติเฟด ซูลิดีน นาโซลิน หรือยาแก้หวัดแบบบรรจุเสร็จ เช่น ทิฟฟี่ ฟู หรือ ดีคอลเจน พลัส เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก หรือเคยรับประทานยาเหล่านี้มาแล้ว เหตุใดยาบ้านๆ อย่างซูโดอีเฟดรีนถึงถูกเปลี่ยนบทบาทจาก “ยารักษาโรค” กลายเป็น “สารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า” แล้วประชาชนอย่างเราจะเลือกใช้ยาชนิดใดทดแทน ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ มีคำตอบมาฝากค่ะ

ซูโดอีเฟดรีน คืออะไร

ซูโดอีเฟดรีน1 (Pseudoephedrine) คือสารที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตออกมาเวลาที่เราตื่นเต้น ตกใจ หรือโกรธจัด อะดรีนาลีนออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดตัว ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้เร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็ว ม่านตาขยายกว้าง กล้ามเนื้อทุกส่วนตื่นตัวและมีประสาทสัมผัสที่ดียิ่ง ขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์คับขัน เช่น เวลาไฟไหม้ สารอะดรีนาลีนนี่เองที่ทำให้คนมีพลังยกของหนักๆ ได้โดยไม่รู้สึกถึงความหนัก หรือไม่เคยยกของหนักขนาดนี้ได้มาก่อน แม้สูตรโครงสร้างของซูโดอีเฟดรีนจะใกล้เคียงกับอะดรีนาลีน แต่ข้อดีของซูโดอีเฟดรีนคือ การออกฤทธิ์ต่อการหดตัวของหลอดเลือดเฉพาะที่เยื่อบุจมูกมากกว่าหลอดเลือดที่ส่วนอื่น ทำให้ยามีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดส่วนอื่นของร่างกายน้อยกว่า เราจึงนำสารซูโดอีเฟดรีนมาใช้เพื่อรักษาอาการคัดจมูก

ซูโดอีเฟดรีนกับฤทธิ์แก้คัดจมูก

อาการคัดจมูก เป็นหนึ่งในอาการของโรคจมูกอักเสบ (Rhinitis)2 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis) อาการทั้ง 2 ประเภทนี้คล้ายกัน คือมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการ ได้แก่ อาการคัดจมูก (congestion) น้ำมูกไหล (rhinorrhea / runny nose) จาม (sneezing) คันจมูก (nasal itching) เป็นต้น เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้มากระตุ้น เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือสิ่งกระตุ้นอื่นที่ไม่ได้ก่อภูมิแพ้ เช่น กลิ่น ควันบุหรี่ สิ่งกระตุ้นเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบ เกิดอาการบวมจนช่องทางเดินหายใจแคบลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคัดจมูก แน่นจมูกจนหายใจไม่ออก รวมถึงน้ำมูกไหล จาม และคันจมูก ดังกล่าวข้างต้น ตัวยาซูโดอีเฟดรีนออกฤทธิ์จำเพาะต่อการหดตัวของหลอดเลือดที่เยื่อบุจมูก ช่วยให้สารต่างๆ รั่วไหลออกจากหลอดเลือดสู่เยื่อบุจมูกน้อยลง ลดอาการบวมภายในเยื่อบุจมูก จึงบรรเทาอาการคัดจมูกได้ และยังช่วยให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น ทำให้หายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุช่องหูในกรณีหูอื้ออีกด้วย

จากฟีนิลโพรพาโนลามีน สู่ ซูโดอีเฟดรีน
การสูญเสียยาแก้คัดจมูก เนื่องจากนำยาไปใช้ในทางที่ผิดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตเราเคยมียาแก้คัดจมูกที่ชื่อว่า ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine หรือ PPA) แต่เนื่องจากมีการนำไปใช้ลดความอ้วนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์คือ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมอง1 จนทำให้เสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้สำนักงานอาหารและยา (อย.) จึงถอนตำรับยาที่มีส่วนผสมของ PPA ในปี พ.ศ. 25443 ทำให้มียาแก้คัดจมูกเหลืออยู่อีก 2 ชนิดคือ ซูโดอีเฟดรีนและฟีนิลอีเฟดรีน

หลังจากยกเลิกการใช้ยาที่มีส่วนผสมของ PPA ทำให้ปริมาณการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสูตรโครงสร้างยาซูโดอีเฟดรีนนั้น ใกล้เคียงกับเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือยาบ้า โดยมีโครงสร้างแตกต่างกันเพียงแค่ 1 ตำแหน่งที่กลุ่ม Hydroxy (-OH group) เท่านั้น จึงเป็นเหตุให้มิจฉาชีพลักลอบนำซูโดอีเฟดรีนไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้านั่นเอง

การเฝ้าระวังการใช้ยาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนเริ่มถูกจับตามองเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนถูกยกระดับขึ้นเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ที่อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และในที่สุดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข4 ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้ซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรตำรับเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2” ซึ่งหลังวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไปหากพบการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษดังนี้ 5

  • กรณีไม่เกิน 5 กรัม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท
  • กรณีเกิน 5 กรัม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 400,000 บาท
    และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่เราสูญเสียยาแก้คัดจมูกที่ดีไปอีกหนึ่งตัวยา เนื่องจากการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด

ถึงแม้จะมีการจำกัดการครอบครอง แต่หากผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาซูโดอีเฟดรีน
ก็ยังสามารถรับยานี้ได้ที่ สถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2

ทางเลือกอื่น…เมื่อมีอาการคัดจมูก

  • ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน: ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)

ยาฟีนิลเอฟรีนมีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับซูโดอีเฟดรีน ออกฤทธิ์โดยตรงในการหดตัวของหลอดเลือดด้วยการกระตุ้นอัลฟ่าวัน รีเซพเตอร์ (∞1 receptor) ที่หลอดเลือด ในขณะที่ซูโดอีเฟดรีนออกฤทธิ์โดยกระตุ้นการปล่อย noradrenaline ที่ปลายประสาทเพื่อไปกระต้น อัลฟ่าวันรีเซพเตอร์อีกที การนำยาฟีนิลเอฟรีนมาใช้ทดแทนซูโดอีเฟดรีนนั้นยังคงมีข้อกังขาในหมู่นักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพในการแก้คัดจมูก โดยมีการวิจัยหนึ่งที่พบว่ายาฟีนิลเอฟรีนไม่มีผลในการรักษา ในขณะที่การวิจัยอื่นระบุว่าฟีนิลเอฟรีนที่ขนาดยา 5-25 มิลลิกรัม มีผลดีในการช่วยลดอาการคัดจมูกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ยานี้6 ในด้านความปลอดภัยพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยของยานี้ได้แก่อาการใจสั่น ซึ่งพบได้เช่นเดียวกับยาซูโดอีเฟดรีน แต่ฟีนิลเอฟรีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางน้อยกว่าซูโดอีเฟดรีน จึงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับเมื่อใช้ยาสูตรซูโดอีเฟดรีน ข้อควรระวังอื่นยังคงไม่แตกต่างจากการใช้ซูโดอีเฟดรีน ได้แก่ ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยไธรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต และห้ามใช้ในผู้ที่รับประทานยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่ม MAO inhibitor เป็นต้น

รูปแบบของยาสูตรผสมฟีนิลเอฟรีนที่ขายในปัจจุบันมักมีชื่อหรือรูปแบบแผงยาเกือบใกล้เคียงกับยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเดิม โดยบริษัทยามักตั้งชื่อการค้าให้คล้ายกันแต่มีคำห้อยท้ายที่แตกต่างไป ได้แก่ ยาซูลิดีน ซีพี, ยานาโซลิน พีแอล, ยาทิฟฟี เดย์, ยาดีคอลเจน พริน เป็นต้น

  • ยาแก้คัดจมูกชนิดใช้เฉพาะที่ 2
  • ยาหดหลอดเลือดที่เยื่อบุจมูกชนิดใช้เฉพาะที่ (Topical Nasal Decongestant)
    มีฤทธิ์ลดบวมที่เยื่อบุจมูก ออกฤทธิ์เร็ว และมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่ายาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน แต่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 7 วัน เนื่องจากจะทำให้กลับมาคัดจมูกซ้ำและใช้ยาไม่ได้ผล (Rebound congestion) ตัวอย่างยามีทั้งแบบพ่นและหยอดจมูก ได้แก่ Xylometazoline HCl (Otrivin®), Oxymetazoline (Pernazene OXY®, Iliadin®) เป็นต้น
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก (Nasal Corticosteroid)
    ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบ จึงไม่เพียงแต่บรรเทาอาการคัดจมูกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล รวมถึงอาการอื่นๆ ของโรคจมูกอักเสบ เช่นอาการทางตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล ได้อีกด้วย ยาออกฤทธิ์เร็ว และสามารถใช้ติดต่อกันได้ยาวนานในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง
    เช่น Fluticasone furoate (Avamys®), Fluticasone propionate (Flixonase®), Beclomethasone dipropionate (Beconase Aqueous®), Budesonide (Rhinocort Aqua®), Mometasone furoate monohydrate (Nasonex®), Triamcinolone acetonide (Nasacort AQ®) เป็นต้น
  • ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)2
    ยาต้านฮีสตามีนหรือที่รู้จักกันในชื่อยาแก้แพ้อากาศ แม้จะมีฤทธิ์แก้คัดจมูกไม่มากนักแต่นำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการอื่นของโรคจมูกอักเสบได้เช่นกัน ยาแก้แพ้อากาศรุ่นแรก เช่น Chlorpheniramine maleate, Brompheniramine maleate ออกฤทธิ์ลดน้ำมูกและบรรเทาอาการคันจมูก แต่มีข้อจำกัดคือทำให้ง่วงนอน ต่อมาจึงมีการพัฒนายาแก้แพ้อากาศกลุ่มใหม่ๆ เช่น Cetirizine (Zyrtec®), Levocetirizine (Xyzal®), Loratadine (Clarityne®), Desloratadine (Aerius®), fexofenadine (Telfast®) ฯลฯ โดยออกฤทธิ์ต่อฮีสตามีนเฉพาะมากขึ้น (H1 receptor) ทำให้อาการข้างเคียงง่วงนอนน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีข้อดีที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้ผลในการลดอาการคัดจมูก
  • น้ำมันหอมระเหยสำหรับสูดดม (Volatile oil)
    แม้จะไม่มีผลยืนยันชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพเทียบกับยาแผนปัจจุบัน แต่น้ำมันหอมระเหยจำพวกน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันระกำ น้ำมันเปปเปอร์มินต์ สเปียร์มินต์ เมนทอล การบูร พิมเสน หรือแม้แต่น้ำมันหอมระเหยสูตรพื้นบ้านของคนไทยที่ทำเองได้ง่าย เช่น การตั้งหม้อน้ำบนเตาไฟใส่หอมแดง 4-6 หัว ทุบหยาบๆ แล้วใช้ผ้าขนหนูคลุม จากนั้นจึงนำมาอังหน้าเพื่อสูดน้ำมันหอมระเหยจากหอมแดง7 หรือสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม ก็ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้เช่นกัน แม้วันนี้จะมีการจำกัดการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน แต่ก็ยังมียาอื่นให้เลือกใช้อีกมากมาย ทั้งชนิดยารับประทาน ยาพ่นจมูก ยาหยอดจมูก และน้ำมันหอมระเหยสำหรับสูดดม แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจะได้ไม่ต้องใช้ยาโดยไม่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง

1.Eccles R. Substitution of phenylephrine for pseudoephedrine as a nasal decongestant. An illogical way to control methamphetamine abuse. Br J Clin Pharmacol 2007; 63: 10-4.
2.Tran NP, Vickery J, Blaiss MS, Management of rhinitis : allergic and non-Allergic. Allergy Asthma Immunol Res 2011; 3:148-56.
3.http://www.dailynews.co.th/crime/20343
4.http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2012/01/pseudo-type21.pdf
5.http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2012/01/bk-v3989_050455.pdf
6.Desjardins PJ, Berlin RG. Efficacy of phenylephrine. Br J Clin Pharmacol 2007; 64: 555-6.
7.http://www.doctor.or.th/node/4484
ภาพจากเว็บไซต์
http://health.allrefer.com/health/allergic-rhinitis-allergy-symptoms.html

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : ผู้เรียบเรียงบทความ เภสัชกรหญิงมนัญญา เนินทราย

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top