ข้อเคลื่อน/ข้อหลุด

ข้อ หรือข้อต่อ (joint) เกิด จากการประกอบกันขึ้นของปลายกระดูกอย่างน้อย 2 ชิ้น ข้อต่อในร่างกายคนเรามีมากมายหลายร้อยข้อ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ข้อที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า และข้อที่ยึดติดแน่นและรวมกัน เช่น กะโหลกศีรษะ โดยทั่วไปแล้วข้อต่อเกิดจากกระดูกสองท่อนมาต่อกัน โดยมีเอ็นหรือพังผืดยึดเอาไว้ อาจมีช่องข้อหรือไม่มีก็ได้ การฉีกขาดของเอ็น หรือพังผืดที่ยึดจะทำให้เกิดข้อเคลื่อนขึ้นได้ ข้อเคลื่อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า dislocation of joint หมาย ถึง การหลุดของข้อออกจากแนวปกติ ทำให้กลายเป็นข้อที่ไม่มั่นคง ดังนั้นข้อเคลื่อนจึงเป็นภาวะที่ปลายกระดูกหรือหัวกระดูกสองอัน ที่มาชนกันประกอบกันขึ้นเป็นข้อ เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่เคยอยู่ ทำให้เยื่อหุ้มข้อนั้นมีการฉีกขาดหรือมีการยืดของเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เนื้อเยื่อ และเส้นประสาท บริเวณนั้นมีการฉีกขาดหรือชอกช้ำไป

ความไม่มั่นคงของข้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับที่ข้อหลวมเพียงเล็กน้อย
2. ระดับที่ผิวข้อเคลื่อนออกจากกัน แต่ยังมีบางส่วนสัมผัสกันอยู่
3. ระดับที่ผิวข้อเลื่อนหลุดออกจากกันทั้งหมด

การที่ข้อต่อเคลื่อนหรือข้อต่อหลุด หมาย ถึง มีแรงมากกระทำที่ข้อนั้นอย่างรุนแรง จนทำให้เยื่อหุ้มข้อหรือบางคนเรียกว่าเอ็นยึดข้อ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความแข็งแรงของข้อต่อนั้นๆ ฉีกขาด จนข้อเคลื่อนหรือหลุดออกจากกัน เมื่อมีข้อเคลื่อน ข้อหลุด จะต้องมีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มข้อเสมอ

ข้อเคลื่อน ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ประเภทคือ

1. เยื่อหุ้มข้อฉีกขาด แล้วมีปลายกระดูกอันหนึ่งหลุดออกมาข้างนอก
2. มีการฉีกขาด ของเยื่อหุ้มข้อเป็นช่องเล็กมาก แต่กระดูกที่ดันผ่านช่องเล็กนั้นออกมาอยู่ข้างนอก ทำให้เกิดเป็นลักษณะคล้ายๆกับการกลัดกระดุม
3. การที่ข้อที่หลุดยังอยู่ในเยื่อหุ้มข้อ

สาเหตุ

1. สาเหตุอาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด เกิดจากพยาธิสภาพ หรือเกิดจากการกระแทกที่บริเวณข้อ
2. ข้อเคลื่อน ข้อหลุด พบได้บ่อยในกีฬาที่มีการปะทะกัน เช่น รักบี้ ฟุตบอล ฯลฯ เกิดจากการที่หัวกระดูกหลุดออกจากเบ้า อาจหลุดออกเป็นบางส่วน หรือหลุดออกโดยสมบูรณ์ จะมีการฉีกขาดของเอ็น พังผืด และเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบข้อต่อตรงตำแหน่งที่หลุด ทำให้มีอาการปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้ ติดขัด หรือถืงแม้เคลื่อนไหวได้ แต่ก็เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ รูปร่างของข้อจะเปลี่ยนไป
3. ที่พบได้บ่อย จากการเล่นกีฬา คือ ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อนิ้วมือ กระดูกสะบ้าหลุด ตัวอย่างเช่น ข้อไหล่หลุดจะพบว่า บริเวณไหล่ที่เคยนูน จะแบนราบลงเป็นเส้นตรง เหมือนไม้บรรทัด และไม่สามารถเอื้อมมือข้างนั้น ไปแตะบ่าด้านตรงข้ามได้ ข้อศอกหลุด จะพบว่า ส่วนข้อศอกนั้นนูนบวมขึ้น มองจากด้านหน้าจะพบว่า ต้นแขนยาวกว่าปลายแขน แต่ถ้ามองมาจากทางด้านหลัง จะพบว่า ต้นแขนสั้นกว่าปลายแขน เป็นต้น
4. เกิดจากการถูกตี หกล้ม หรือการเหวี่ยง การบิด หรือกระชากอย่างแรงที่ข้อนั้น หรือเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน

อาการของโรค

อาการและอาการ แสดงที่สำคัญของข้อเคลื่อน ได้แก่ ปวดมาก บวมรอบๆ ข้อ กดเจ็บ มีอาการฟกช้ำ รูปร่างของข้อที่ได้รับอันตรายเปลี่ยนรูปไปจากเดิมและความยาวของแขนหรือขา ข้างที่ได้รับบาดเจ็บอาจสั้นหรือยาวกว่าปกติ เคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้ตามปกติ
อาการข้อเคลื่อนที่พบได้บ่อย
1. บวม, ปวด, กดเจ็บบริเวณข้อ
2. ข้อมีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิม สีของบริเวณข้อที่ได้รับบาดเจ็บเปลี่ยนไปจากเดิม
3. การเคลื่อนไหวข้อทำไม่ได้ หรือทำได้น้อยมาก ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้ตามปกติ
4. มีการหดสั้นของอวัยวะ เช่น แขน หรือขา
5. อาจคลำพบปลายหรือหัวกระดูกที่เคลื่อนออกมา
6. การที่ข้อเคลื่อน อาจมีอันตรายต่อเส้นประสาท และหลอดเลือดใกล้เคียง

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยข้อเคลื่อน

1. ใช้วัสดุที่หาได้หนุนหรือประคองข้อ และกระดูกที่เคลื่อนให้อยู่ในท่าที่สบาย หรือเจ็บน้อยที่สุดก่อนพบแพทย์ โดยให้พักข้ออยู่นิ่งๆ
2. ถ้าเป็นข้อเคลื่อนครั้งแรก อย่าพยายามดึงให้เข้าที่เอง
3. ให้ข้อนั้นอยู่นิ่ง ๆ ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณข้อ หลักสำคัญคือต้องประคบด้วยความเย็น
4. ใช้ผ้าพยุงหรือดามไว้ ให้ส่วนนั้นให้อยู่ในท่าพัก
5. นำส่งโรงพยาบาล การทิ้งไว้นานจะทำให้การดึงเข้าที่ลำบาก และถ้านานเกินไปอาจต้องทำการผ่าตัด
การปฐมพยาบาลเมื่อมีข้อเคลื่อนหรือหลุดเกิดขึ้น อย่า พยายามดึงเข้าที่เอง เพราะอาจเกิดอันตรายถึงกระดูกหักได้ หรือบางรายอาจมีกระดูกหักชิ้นเล็กๆ ร่วมด้วย จึงควรเอกซเรย์ให้เห็นชัดเจน ก่อนที่จะดึงเข้าที่ หรือบางรายอาจต้องผ่าตัดรักษา สิ่งแรกที่ควรทำคือ ให้ข้อนั้นอยู่นิ่งๆ ในท่าที่เป็นอยู่ อาจจะใช้มืออีกข้างช่วยประคองในกรณีที่เป็นไหล่ หรือข้อศอก จากนั้นประคบด้วยน้ำแข็ง เพื่อให้เลือดออกน้อยที่สุด แล้วรีบมาพบแพทย์ให้จัดการรักษาโดยทันที

ข้อเคลื่อนและข้อหลุดทุกชนิดที่เกิดจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

1. การบาดเจ็บที่ทำให้ข้อเคลื่อน หรือหลุดจากการเล่นกีฬานั้น มักจะเป็นที่ ข้อไหล่ ข้อศอก และข้อนิ้วมือ
2. ผู้ป่วยจะเจ็บปวด บวม ที่บริเวณข้อต่อเนื่องจากเลือดที่ออก เพราะมีการฉีกขาด ของเยื่อหุ้มข้อ และเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ข้อ
3. อย่าพยายามดึงเข้าที่เอง เพราะนอกจากจะยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อหดเกร็งแล้ว ยังจะไปทำอันตรายเนื้อเยื่อที่ดีอีก
ถ้าทำไม่ถูกต้องจริงๆ จะทำให้อาการมากขึ้นไปอีก
4. ควรพยุง หรือประคองอวัยวะส่วนนั้น แล้วรีบส่งพบแพทย์ต่อโดยเร็ว เพื่อที่จะเอกซเรย์ดูว่า มีกระดูกแตก หรือหักอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจมีกระดูกแตกขึ้นเรื่อยๆ ร่วมด้วย จากนั้นจึงค่อยดึงเข้าที่ต่อไป
5. ต้องนำส่งสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล

หลักการปฐมพยาบาลบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

เริ่มจากการ ตรวจร่างกาย เพื่อประเมินลักษณะ ความรุนแรงของบาดแผล หรือการบาดเจ็บที่ได้รับ รวมทั้งซักถามอาการจากนักกีฬา เช่น บวม หรือกดเจ็บ มีอาการปวดขณะเคลื่อน หรือขยับส่วนนั้นๆ หรือไม่ หลังจากได้ข้อมูลการบาดเจ็บแล้ว ให้เริ่มทำการปฐมพยาบาล โดยปฏิบัติตามอักษรภาษาอังกฤษ ในคำว่า “RICE” โดยที่
• R ใช้แทนคำว่า Rest
• I ใช้แทนคำว่า Ice
• C ใช้แทนคำว่า Compression
• E ใช้แทนคำว่า Elevation

รายละเอียดของการปฏิบัติตามแนวทาง RICE มีดังนี้

การพัก (Rest) การ ใช้งานส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บทันที ให้หยุดพักการเล่นกีฬาโดยเฉพาะในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญ ควรมีการให้พักการใช้งาน ส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต้องการเวลาพักประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง
การใช้ความเย็น (Ice) โดย การประควบเย็น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดบวม และอาการปวดได้ ระยะเวลาการประคบเย็นต้องกระทำให้เหมาะสมกับบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ โดยทั่วไปการประคบเย็น ให้ประคบนานครั้งละ 10 ถึง 20 นาที หยุดประคบ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่บวม หรือทำวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง

วิธีที่นิยมใช้ในการประคบเย็น ได้แก่

1. การใช้เป็นถุง เย็น (ice pack) ซึ่งจะคงความเย็นได้ประมาณ 45-60 นาที และต้องมีผ้าห่อไว้ ไม่ให้ถุงเย็นสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง การใช้ถุงใส่น้ำแข็ง ผ้าชุบน้ำเย็น ในกรณีที่ไม่มีถุงเย็น หรือบริเวณของการบาดเจ็บกว้างเกินขนาดของถุงเย็น
2. การพ่นด้วย สเปรย์เย็น (cooling spray) อาจใช้ลดปวดเฉพาะที่ได้ชั่วคราว สามารถใช้ได้กับบริเวณที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่ไม่หนา เช่น คาง สันหมัด ข้อเท้า
การพันผ้ายืด (Compression bandage) เพื่อ กดไม่ให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อมาก มักใช้ร่วมกับการประควบเย็น เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองด้านร่วมกัน การพันผ้ายืดควรพันให้กระชับส่วนที่บาดเจ็บ และควรใช้ผ้าสำลีผืนใหญ่รองไว้ให้หนาๆ โดยรอบ ก่อนพันด้วยผ้ายืด ควรพันผ้ายืดคลุมเหนือ และใต้ต่อส่วนที่บาดเจ็บ
การยก (Elevation) ส่วน ของร่างกายที่ได้รับการบาดเจ็บ ให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก เช่น การนอนวางขา หรือเท้าบนหมอน ในกรณีที่นั่ง ให้วางเท้าบนเก้าอี้ เป็นต้น ในกรณีบาดเจ็บรุนแรง ควรยกสูงไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง นอกจากนี้ การยกส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บ ให้สูง ยังช่วยในการลดการกดของน้ำหนักเซลล์ที่หลั่งออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้น
ทำให้ลดการบวมลงได้

ข้อควรหลีกเลี่ยง

ควรหลีกเลี่ยง การใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ ในระยะแรก (48 ชั่วโมง) ของการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกในบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น นำไปสู่การบวมของเนื้อเยื่อโดยรอบ และจะมีอาการปวดมากขึ้น การหายจะช้าลง

แนวทางการรักษา การเข้าเฝือก

1. ระยะเวลาในการ รักษา เช่น การเข้าเฝือกให้ข้อต่ออยู่นิ่งๆ อาจแตกต่างกันตามวัยต่างๆ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป
2. เมื่อได้รับ การรักษาด้วยการดึงให้ข้อที่เคลื่อนหรือหลุดกลับเข้าที่แล้ว จำเป็นต้องให้เวลากับเยื่อหุ้มข้อต่อนั้นๆ ในการเชื่อมติดกัน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงเหมือนเดิม ซึ่งปกติเวลาโดยเฉลี่ยจะประมาณ 3-6 สัปดาห์ขึ้นไป
3. ถ้าหากไปรีบ ร้อนใช้งานข้อต่อนั้นๆ เร็วก่อนกำหนด โอกาสที่จะทำให้เกิดข้อเคลื่อนหรือข้อหลุดซ้ำมีได้มาก จนบางทีถ้าหลุดบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ข้อไหล่หลุดซ้ำซากในนักกีฬา นักมวย เป็นต้น
4. สิ่งสำคัญหลัง จากที่ดึงข้อต่อเข้าที่แล้ว คือ การยึดตรึงให้ข้อต่อนั้นอยู่นิ่งๆ นาน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เอ็น พังผืด และเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่อติดกันเป็นปกติเหมือนเดิม ถ้าไม่ยึดหรือตรึงข้อต่อ หลังจากที่ดึงเข้าที่แล้ว จะทำให้เอ็น พังผืด หรือเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดนั้น ติดกันไม่ได้ หย่อน ยืด และหลวม ทำให้มีการหลุดของข้อต่อนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกในระยะต่อๆ มา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงอะไรเลย ที่พบบ่อยๆ คือ ข้อไหล่ การผ่าตัดในบางกรณีก็จำเป็นที่จะต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้ข้อที่เคลื่อนหลุดกลับมาแข็งแรงดังเดิมบางครั้งการ หลุดของข้อไหล่ในครั้งต่อๆ มา ตัวนักกีฬาเอง สามารถดึง หรือขยับเข้าที่เองโดยง่าย เช่น นักมวย พอชกๆ ไปเกิดไหล่หลุด จึงถอยหลังออกมาจากคู่ชก แล้วขยับไหล่ให้เข้าที่ จากนั้นจึงชกต่อไป หรือนักกีฬาบางคนแค่เหวี่ยงมือไปทางด้านหลัง ข้อไหล่ก็หลุดแล้ว เป็นต้น พวกที่ข้อต่อหลุดซ้ำๆ หลายหนนี้ สามารถรักษาให้หายได้โดยวิธีผ่าตัดเท่านั้น

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top