การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง อดทน มีพละกำลังในการทำงาน มีอารมณ์และจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน กระฉับกระเฉงตลอดเวลา มีความคิดที่ฉับไว ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน การออกกำลังกายยังช่วยให้บุคลิกภาพ รูปร่างสง่างามทุกย่างก้าว เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง เมื่อรูปร่างได้สัดส่วนสวยงาม

การสร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญเริ่มต้นต้องมีกำลังใจที่แน่วแน่ ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเพื่อน ชักชวนไปออกกำลังกายด้วยกัน ความสุขจากการออกกำลังกายหาได้ไม่ยาก เพียงแค่สร้างความพร้อมที่จะเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างถูกต้อง

ทดสอบสมรรถภาพก่อนออกกำลังกาย

การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย รวมทั้งการตรวจสุขภาพร่างกาย เป็นสิ่งที่พึงกระทำก่อนการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะต้องทำงานมากว่าภาวะปกติ ผลการทดสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนการออกกำลังกายจะเป็นตัวชี้วัดว่าควรออกกำลังกายแบบใด หนักแค่ไหน ใช้เวลาเท่าไร บ่อยแค่ไหน และควรมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำหรือจัดโปรแกรมการออกกำลังกาย จะทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างมั่นใจและถูกต้องตามหลักวิชาการมากขึ้น

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ควรมุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มสมรรถภาพร่างกายทั้ง 5 ด้าน ได้แก่

1. ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด โดยถ้าหัวใจ ปอด และระบบไหลเวียนของเลือดสมบูรณ์แข็งแรง จะช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย จึงป้องกันและรักษาโรคหัวใจขาดเลือดได้
2. ความแข็งแรงของข้อต่อและเส้นเอ็น โดยต้องการให้ข้อต่อและเอ็นที่ยึดข้อต่ออ่อนตัวและยืดหยุ่น ป้องกันการติดยึดของข้อต่อและภาวะข้อเสื่อมเมื่อถึงวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
3. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
4. ความอดทนของกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเมื่อยล้าในชีวิตประจำวัน
5. การมีสัดส่วนของร่างกายที่เหมาะสม รวมทั้งสัดส่วนไขมันของร่างกายที่ไม่มากเกินไป

ออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะดี

การออกกำลังกายควรเริ่มด้วยการออกกำลังกายแบบเบาๆ และค่อยๆเพิ่มความหนักขึ้นโดยใช้ชีพจรเป็นตัวกำหนดความหนัก ซึ่งชีพจรสูงสุดของแต่ละคนสามารถคำนวณได้โดยนำ 220-อายุ นั่นคือชีพจรสูงสุดซึ่งเท่ากับ 100% ควรเริ่มต้นออกกำลังกายที่ความหนัก 60% หรือขนาดเบาก่อน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวรับงานที่ค่อยๆ หนักขึ้นได้ แต่ไม่ควรหนักเกินไปเพราะจะเกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้ การออกกำลังกายที่เบาเกินไป เช่นไม่ถึง 50% ของชีพจรสูงสุดก็ไม่เกิดผลที่ดีต่อร่างกายเพราะร่างกายไม่เกิดการปรับตัว ปกติร่างกายจะมีขบวนการการใช้พลังงาน การกำจัดของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน เป็นขั้นตอนตามความหนักเบา จากกระบวนการใช้ออกซิเจนไปจนถึงกระบวนการไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 85-92% จนถึงจุดที่ร่างกายต้องใช้พลังงานมาจากการสลายไขมันซึ่งให้พลังงานต่อกรัมมากที่สุด พบว่าความสามารถในการใช้พลังงานในระดับนี้มีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการออกกำลังกาย

โดยทั่วไปการออกกำลังกายสามารถแบ่งได้ 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 – ช่วงอบอุ่นร่างกาย
ก่อนที่จะออกกำลังกาย ต้องอบอุ่นร่างกายก่อน เช่น ถ้าจะออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ก็ไม่สมควรที่จะลงวิ่งทันที่ เมื่อไปถึงสนามควรจะอุ่นร่างกาย มีอุณหภูมิสูงขึ้นก่อนอย่างช้าๆ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย สะบัดแข้ง สะบัดขา แกว่งแขน วิ่งเหยาะอยู่กับที่ช้าๆ ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อน แล้วจึงออกวิ่ง การอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายเป็นขั้นตอนแรกที่จะต้องกระทำ
ขั้นตอนที่ 2 – ช่วงการออกกำลังกาย
เลือกใช้กิจกรรมที่ชอบและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น การเดินเร็ว ตะกร้อ ฟุตบอล บาสเกตบอล ฯลฯ ซึ่งช่วงของการออกกำลังกายนี้จะใช้เวลาประมาร 20 – 30 นาที และพยายามให้ความหนักหรือชีพจรถึง 60% ของชีพจรสูงสุด หรือให้รู้สึกว่าเหนื่อยพอประมาณ แต่อย่าให้หนักเกินไป ควรตรวจเช็คชีพจรเป็นระยะ หรือใช้การสังเกตอาการเหนื่อยอย่างสบาย ก็ถือว่าไม่หนักเกินไป แต่ถ้าออกกำลังกายแล้วหายใจไม่ทัน หรือพูดไม่ออก แสดงว่า การออกกำลังกายหนักเกินไป อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ การออกกำลังกายที่เพียงพอ จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดการเผาไหม้อาหารในร่างกาย โดยใช้ออกซิเจนในอากาศที่หายใจเข้าไปเพื่อทำให้เกิดพลังงาน การที่จะออกกำลังกายได้ถึงระดับนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ออกกำลังกายจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 3 – ช่วงการผ่อนคลาย
อาจจะใช้กิจกรรมเหมือนกับการอบอุ่นร่างกาย คือ การวิ่งเหยาะๆ และการบริหารกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ใช้เวลาประมาณ 5 -10 นาทีเช่นเดียวกัน ควรจะค่อยๆ ผ่อนการออกกำลังกายลงที่ละน้อย แทนการหยุดการออกกำลังกายโดยทันที ทั้งนี้เพื่อให้เลือดที่คั่งอยู่ตามกล้ามเนื้อได้มีโอกาสกับคืนสู่หัวใจ

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

  • ปฎิกิริยาต่อการออกกำลังกายเกิดขึ้นในหลายส่วนของร่างกายและมีลักษณะต่างๆ กัน ได้แก่
    1. กล้ามเนื้อ การออกกำลังทุกครั้งต้องอาศัยกล้ามเนื้อหดตัวดึงกระดูกซึ่งประกอบเป็นแขนขาและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
    การออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น
    2. หัวใจและหลอดเลือด เมื่อมีการออกกำลัง หัวใจจะได้รับการกระตุ้นทางระบบประสาทให้เต้นเร็วและแรงขึ้น สูบฉีดเลือดได้ปริมาณมากขึ้นหากต้องทำการเช่นนี้บ่อย ๆ หัวใจก็จะปรับตัวโดยเพิ่มขนาดของเส้นใย ทำให้ผนังห้องหัวใจหนา มีแรงสูบฉีดและกำลังสำรองมากขึ้น การออกกำลังกายจะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น ช่วยให้หัวใจสะสมพลังงานไว้ใช้เมื่อเวลาหัวใจต้องทำงานหนัก และเพิ่มความแข็งแรงในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังลดระดับไขมันในเลือด เพิ่มระดับไขมันที่ดี ลดระดับความดันโลหิต ลดการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานน้อยลง
    3. ปอดและการหายใจ ในการหายใจตามปกติ ศูนย์ควบคุมการหายใจซึ่งอยู่ภายในสมอง จะสั่งการให้กล้ามเนื้อซี่โครงและกะบังลมหดตัว ทำให้ทรวงอกขยาย อากาศภายนอกดันผ่านจมูก หลอดลมคอ และหลอดลมปอดเข้าไปในถุงลม การออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบหายใจ
    4. ระบบประสาท ขณะออกกำลังสมองจะสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว จนเมื่อถึงขีดหนึ่งศูนย์สั่งการในสมองก็ถูกกดและเข้าสู่ระยะเหนื่อยจนหมดแรง อัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงร้อยละ 30 เมื่อออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้มีความสุข และรู้สึกสบายใจจากสารเอ็นดอร์ฟินที่หลั่งออกมาจากสมองขณะออกกำลังกาย
    5. ระบบและส่วนอื่นๆ
  • กระดูกที่ถูกกล้ามเนื้อดึงจะมีผิวหนาและแข็งแรงขึ้น ในเด็กกระดูกบางชิ้นจะยาวขึ้นด้วย ทำให้ร่างกายสูงใหญ่่
  • สารฮีโมโกลบินและจำนวนเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ปริมาตรเลือดสำรองที่เก็บไว้ในม้ามและที่อื่นๆ จะมากขึ้น
  • ต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้น ตับอ่อนทำงานดีนั้น ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีโอกาสการเกิดโรคเบาหวานลดลงร้อยละ 40
  • มีการสะสมสารเคมีบางอย่างไว้สำหรับใช้ระหว่างการออกกำลังกาย การออกกำลังกายหนักปานกลาง จะช่วยให้อายุขัยเพิ่มขึ้น 1-2 และลดอุบัติการการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงร้อยลง 60
  • ระบบควบคุมอุณหภูมิกายจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ร้อยละ 30

บัญญัติ 10 ประการในการออกกำลังกาย

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันน
2. ออกกำลังกายครั้งละ 15-30 นาที
3. ออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม
4. ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและผ่อนกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย
5. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
6. ออกกำลังกายที่ให้ความสนุกสนาน
7. แต่งกายให้เหมาะสมกับกับชนิดของการออกกำลังกาย
8. ออกกำลังกายในสถานที่ปลอดภัย
9. ควรออกกำลังกายหลากหลายชนิด
10. ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ต้องตรวจสุขภาพก่อนออกกำลังกาย

ข้อแนะนำบางประการ

1. การรับประทานอาหาร ควรกระทำก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 2 -3 ชั่วโมง เพราะถ้ารับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ กระเพาะจะขยายตัว
เลือดต้องไปเลี้ยงกระเพาะมากเป็นพิเศษและทำให้ปอดและกะบังลมขยายตัวไม่ได้เต็มที่ อาจมีอาการจุกเสียดอาหารที่รับประทาน ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายๆ เช่น จำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ส่วนอาหารจำพวกไขมันและโปรตีน ไม่ควรรับประทานก่อนการออกกำลังกาย
เพราะต้องใช้เวลาย่อยนาน และให้พลังงานช้า
2. น้ำเป็นสิ่งจำเป็นมากในการออกกำลังกาย เพราะน้ำจะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ แม้จะทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อน ร่างกายจะเสียน้ำมากจึงต้องได้รับการชดเชย โดยมีหลักการให้น้ำแก่ร่างกายดังนี้
ก่อนออกกำลัง 15 นาที ควรดื่มน้ำ 1 แก้ว
ขณะออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำ 1 แก้ว ทุกๆ 15 -20 นาที เพื่อชดเชยกับน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปกับเหงื่อ
ถ้าออกกำลังกายนานเกิน 1 ชั่วโมง และเสียเหงื่อมาก ควรชดเชยด้วยน้ำและเกลือแร่ควบคู่กันไป
3. บางครั้งอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้จากการที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ หรือออกกำลังกายหนักเกินไป การบาดเจ็บที่พบบ่อยๆ เช่น
เป็นลม เพราะเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายหนักเกินไป การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ให้พักในที่ร่ม คลายเสื้อผ้าให้หลวม นอนราบยกเท้าสูง ใช้ผ้าเช็ดตามร่างกาย
เอ็นข้อต่อฉีกขาด เพราะข้อพลิก หรือข้อรับน้ำหนักมากเกินไป การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้พักใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบตรงข้อที่เจ็บ ยกส่วนที่เจ็บให้สูงและใช้ผ้ายืดพ้นป้องกันการบวม
กล้ามเนื้อฉีกขาด จากการที่กล้ามเนื้อยืดตึง มากเกินไป หรือออกแรงแบบกระตุกทันทีทันใด การปฐมพยาบาลยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ และหยุดการออกกำลังกาย
4. เมื่อมีการบาดเจ็บและเกิดการบวมขึ้น เพราะเส้นเลือดของส่วนที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีการฉีกขาด เลือดออกมาตรงตำแหน่งนั้น การใช้ความเย็นร่วมกับการออกแรงกดส่วนที่บวมนั้น ความเย็นจะไปช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัวและจะช่วยทำให้เลือดออกน้อยลง ดังนั้นอาการบวมก็จะน้อยลง การดูดซึมกลับของร่างกายเพื่อให้ยุบบวมก็จะใช้เวลาน้อยลง ซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้ความร้อน หรือสิ่งที่นวดแล้วเกิดความร้อนในเบื้องต้น จะทำให้เส้นเลือดขยายตัว รวมทั้งไปนวดคลึงตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ จะยิ่งทำให้เลือดออกและบวมมากขึ้น การดูดซึมกลับก็จะใช้เวลานานขึ้น
5. ควรออกกำลังกายด้วยความสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะใช้สถานที่ที่ไหนก็ได้ที่เราสามารถไปได้ แม้กระทั่งที่บ้าน โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานที่สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพร่างกาย และการแต่งกาย

สุขบัญญัติข้อที่ 3 เพื่อสุขภาพดี ได้แก่ การออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ ประโยชน์ที่ท่านจะได้รับจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คือการทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง เป็นเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เปรียบเสมือนยาสารพัดประโยชน์ เป็นทั้งยาบำรุง ยาสำหรับป้องกันโรค และสำหรับบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย

การออกกำลังกายมีผลทำให้อวัยวะสำคัญๆ ของร่างกายได้แก่ หัวใจ ปอด ระบบการไหลเวียนของโลหิต ซึ่งถือเสมือนเป็นกลไกที่สำคัญทำให้อวัยวะอื่นๆ มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างดีตามไปด้วย มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยมลพิษรอบด้าน จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพดี ที่เหมาะสมแก่ทุกๆ คน มีหลักการกว้างๆ ดังนี้ คือ

การฝึกความอ่อนตัว ของข้อต่อต่างๆ และของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นๆ เพื่อให้คุ้นเคยกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นยึดข้อต่อต่างๆ มีความยืดหยุ่นดี ไม่บาดเจ็บได้ง่าย ท่านสามารถทำได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย ได้แก่ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อสะโพก กระดูกสันหลังส่วนคอและบั้นเอว

การฝึกความอดทน หมายถึงการฝึกความสามารถของกล้ามเนื้อให้ทำงานได้เต็มที่เป็นเวลานาน จะเกิดความอดทนเฉพาะที่ของกล้ามเนื้อนั้นๆ และเมื่อทำติดต่อกันต่อไป จะทำให้เกิดความอดทนของระบบการไหลเวียนของโลหิต และระบบหายใจ ซึ่งได้แก่ หัวใจ ปอด

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีก คือ ควรจะทำมากน้อยแค่ไหน ควรจะทำนานเท่าใดและควรจะทำสัปดาห์ละกี่ครั้ง โปรดติดตามรายละเอียดในหัวข้อเรื่องการออกกำลังกายต่อไป

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top