การผ่าตัดแยกส่วนล่างของลำตัวออก

การผ่าตัดที่จะเล่าในวันนี้เป็นการผ่าตัดแยกส่วนล่างของลำตัวออก ซึ่งได้ทำในผู้ป่วยสองราย เนื่องจากผู้ป่วยมีก้อนเนื้อมะเร็งในส่วนล่างของร่างกาย กล่าวคือ ในรายแรกมีมะเร็งในอุ้งเชิงกราน ส่วนรายที่สองมีก้อนเนื้อบริเวณต้นขาลุกลามไปสู่บริเวณใกล้เคียง การผ่าตัดนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Hemicorporectomy ซึ่งคำว่า Hemi แปลว่าครึ่ง corpus แปลว่าลำตัว ส่วน ectomy เป็นส่วนท้ายคำ หมายถึงการผ่าตัด

research weekly 25

ป่วยรายแรกเป็นหญิง อายุ 18 ปี มีก้อนมะเร็งบริเวณกระดูกก้นกบ รักษาด้วยยาเคมีบำบัดไม่ได้ผล และโชคดีที่ก้อนมะเร็งไม่ได้แพร่กระจายออกไปจึงจะได้ประโยชน์จากการผ่าตัดนี้ การผ่าตัดกระทำในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 โดยที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากคณะสหวิชาชีพ ทั้งผู้เชื่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา (ทางเดินปัสสาวะ) ศัลยศาสตร์เส้นเลือด ทีม ICU (Intensive Care Unit)แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์ และคณะนักกายภาพบำบัด ทั้งก่อนการผ่าตัด ระหว่าง และหลังการผ่าตัดอย่างดียิ่ง หลังผ่าตัดซึ่งใช้เวลาถึง 16 ชั่วโมง เสียเลือดไประหว่างผ่าตัด 5,800 มิลลิลิตร ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาปรับตัวพอสมควร ทีมต้องดูแลใกล้ชิด เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป ปริมาณเลือดในร่างกายที่ต้องการใช้ก็ลดลงตามส่วน ที่สำคัญคือสภาพจิตใจที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป แต่ในที่สุดผู้ป่วยก็ปรับตัว จนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างดี สามารถใช้อุปกรณ์เสริมร่างกายส่วนล่างเพื่อทรงตัวนั่งรถเข็น และมีความสามารถดูแลการเปลี่ยนถุงรองปัสสาวะ อุจจาระได้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ส่วนผู้ป่วยรายที่สอง เป็นหญิงอายุ 51 ปี มีก้อนเนื้อที่กระดูกต้นขาซ้าย ลุกลามไปปอด ได้รับการผ่าตัดกระดูกเชิงกรานออกไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่มีอาการกลับมาอีก พร้อมทั้งมีน้ำในช่องท้องและมีการติดเชื้อ หากไม่ทำการผ่าตัดแยกส่วนล่างออกไปอาจมีอันตรายได้ แพทย์จึงตัดสินใจผ่าตัดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 และด้วยประสบการณ์จากผู้ป่วยรายแรก ทำให้คณะแพทย์ใช้เวลาผ่าตัดให้ผู้ป่วยรายนี้ 14 ชั่วโมง แต่ระหว่างผ่าตัดเสียเลือดไป 8,000 มิลลิลิตร เพราะการผ่าตัดซับซ้อนกว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยได้รับการดูแลเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายแรก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การผ่าตัดทั้งสองราย เป็นการผ่าตัดใหญ่มาก ต้องใช้คณะผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการคำนวณความต้องการเลือดและสารน้ำทดแทน ตลอดจนการให้สารอาหารให้ตรงพอดีกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนั้นการที่พื้นที่ผิวของร่างกายลดลงไปมาก ทำให้กลไกการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายต้องปรับตัว อย่างไรก็ดีถือว่าคณะแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ประสบความสำเร็งอย่างดีในการรักษาผู้ป่วยทั้งสองราย ด้วยความเคารพผู้ป่วย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจึงไม่ได้ลงรูปในบทความนี้

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความที่ตีพิมพ์แล้ว

Hemicorporectomy: A Case Report. โดย Pawee Calidapong และคณะ The Bangkok Medical Journal 2019; volume 15, number 2, pages 207 – 212.

Authors : ปวีร์ ชลิดาพงศ์, ชัยยศ คุณานุสนธิ์

Scroll to Top