สารระเหย

ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พุทธศักราช 2519 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2534 แบ่งยาเสพติดออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ยาเสพติดให้โทษ 2. วัตถุออกฤทธิ์ และ 3 สารระเหย สำหรับสารระเหย ได้แก่ สารที่ได้มาจากขบวนการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม มีลักษณะเป็นไอ ระเหยได้ในอากาศ ซึ่งเมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย สารระเหยที่มีผู้นำมาเสพโดยการสูดดมมีหลายอย่าง เช่น ทินเนอร์ น้ำมันเบนซิน แล็กเกอร์ กาวยางน้ำ น้ำยาล้างเล็บ สีกระป๋องสำหรับพ่น วัยรุ่นจำนวนมากที่หลงผิดหันไปสูดดมสารระเหย โดยไม่รู้ว่าสารระเหยมีพิษร้ายแรงกว่าเฮโรอีนและทำให้เกิดความพิการอย่างถาวรแก่อวัยวะในร่างกาย ไม่สามารถบำบัดรักษาให้หายเป็นปกติได้

โทษและภัยของสารระเหยที่มีต่อร่างกาย อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ

          1. โทษที่เกิดขึ้นทันทีทันใด พิษของสารระเหยทำให้เกิดอาการต่างๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสารระเหยและปริมาณที่เสพ ถ้าเสพในปริมาณสูงเกินขนาดจะทำให้หัวใจหยุดเต้น บางรายทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดหัวใจวายเสียชีวิตได้
          2. โทษที่เกิดขึ้นจากการเสพในระยะเวลานาน สารระเหยจะเข้าไปทำลายระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เสื่อมสมรรถภาพ เช่นทำลายระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบของหลอดลม เยื่อบุจมูกมีเลือดออก ปอดอักเสบ ทำลายระบบทางเดินอาหาร เกิดอาการปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ทำลายระบบโลหิต ทำให้ไขกระดูกหยุดสร้างเม็ดโลหิต ผู้เสพจะมีอาการตัวซีด อ่อนเพลียเลือดออกง่ายและอาจทำให้เกิดมะเร็งในเม็ดโลหิตขาวได้
ทำลายระบบประสาทสมอง ทำให้ประสาทอักเสบ ชาตามปลายมือและเท้า ความจำเสื่อมเซื่องซึม ความคิดอ่านช้า ตัดสินใจช้า
          ทำลายระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ จนถึงกับเป็นอัมพาตได้ ทำลายระบบสืบพันธุ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาจากผู้ที่ติดสารระเหย มีอาการไม่สมประกอบ สุดท้ายขอฝากคาถาป้องกันยาเสพติดทุกประเภทไว้ด้วยว่า “ไม่เริ่ม..ไม่ต้องเลิก” ขอให้โชคดี ไม่มีคนในบ้านติดยาเสพติดเลยนะคะ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top