สารเมลามีน (melamime)มีสูตรโครงสร้างทางเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ แต่เมลามีนก็ไม่ใช่สารอาหารโปรตีน สารเมลามีนมีสูตรทางเคมีว่า C3H6N6 ซึ่งหมายความว่า ทุกๆ หนึ่งโมเลกุลของสารเมลามีน ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน 3 อะตอม ธาตุไฮโดรเจน 6 อะตอม และธาตุไนโตรเจน 6 อะตอม สารเมลามีนมีชื่อทางเคมีว่า 1,3,5-triazine-2,4,6-triamine ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึงร้อยละ 66
สารเมลามีนเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกหรือใช้ทำกาว แต่เมลามีนไม่ได้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร เนื่องจากสารเมลามีนนี้มีคุณสมบัติทนความร้อน จึงนิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะพลาสติก ถุงพลาสติก น้ำยาดับเพลิง น้ำยาทำความสะอาด กาว หมึกสีเหลือง รวมถึงพบในยาฆ่าแมลงด้วย ส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับถ้วยชามเมลามีนหรือจานเมลามีนที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป
สารเมลามีนเป็นผงสีขาว ลักษณะคล้ายนมผงจนแยกไม่ออก เมื่อนำไปละลายน้ำ หรือผสมในนมจะตรวจพบปริมาณไนโตรเจนสูงซึ่งการจะตรวจว่าน้ำนมนั้นมีโปรตีนสูงหรือไม่ จะวัดจากค่าของไนโตรเจน ดังนั้นถ้าผสมสารเมลามีนซึ่งมีไนโตรเจนสูงเข้าไปในน้ำนม จะถูกทำให้เข้าใจว่าน้ำนมมีโปรตีนสูง
พิษของสารเมลามีน
– ฤทธิ์ของสารเมลามีนนั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานเข้าไปโดยตรง เพียงแค่สูดดมเข้าไป หรือผิวหนังสัมผัสก็ทำให้เกิดการระคายเคือง จนส่งผลให้ผิวหนังอักเสบได้แล้ว เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายไม่สามารถย่อยสารเมลามีนได้ ไตจึงไม่สามารถขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะ
– เมื่อสารเมลามีนเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไป สะสมจนกลายเป็นนิ่วในไต ก่อให้เกิดมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ทำลายระบบสืบพันธุ์ และทำให้ไตวายได้อย่างเฉียบพลัน เช่นเดียวกับเด็กทารกชาวจีนทั้ง 4 คนที่เสียชีวิต เพราะรักษาไม่ทันการณ์ ขณะที่ยังมีเด็กอีกกว่า 53,000 คน ทั้งชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า กำลังป่วยเป็นนิ่วในไตอันเป็นผลพวงมาจากสารเมลามีน
– ในส่วนของภาชนะที่ทำจากเมลามีนก็ต้องระวังการใช้เช่นกัน แม้ผู้ผลิตจะบอกว่า สามารถทนความร้อนได้ถึง 100 องศา แต่ก็ควรใช้งานที่อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เนื่องจากหากใช้งานกับความร้อนสูง เช่น น้ำเดือด ๆ อาหารที่ทอดใหม่ ๆ ก็อาจทำให้สารฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งแพร่ออกมาได้
มาตรฐานความปลอดภัย
หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป ( European Food Safety Authority : EFSA ) ได้เสนอให้มีการกำหนดค่าอนุโลมในการบริโภคเมลามีนต่อวันของมนุษย์และสัตว์ ไว้ที่ระดับ 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ของน้ำหนักตัวต่อวัน ทั้ง นี้ค่าอนุโลมดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงสารประเภทเดียวกันอันได้แก่ ammeline, ammelide และ cyanuric acid ซึ่งจากการที่ EFSA ได้กำหนดค่า TDI ของเมลามีนสำหรับมนุษย์และสัตว์ให้เท่ากันนั้น เนื่องจากผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในสัตว์ยังไม่เป็นที่ชัดเจน ดังนั้น ทาง EFSA จึงขอให้มีการกำหนดค่า TDI ของเมลามีนสำหรับสัตว์ให้เท่ากับสำหรับมนุษย์ รวมทั้งได้กำหนดค่า TDI ของเมลามีนในภาชนะที่สัมผัสกับอาหารไว้ที่ระดับ 30 mg/kg ด้วย ค่า TDI ดังกล่าวเป็นเพียงค่าที่ตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราว หาก ภายหลังที่ EU ได้รับผลการวิจัยจากกลุ่มประเทศสมาชิกในเรื่องของเมลามีนที่ชัดเจนแล้ว จะได้มีการปรับ-ลดค่าดังกล่าวให้สอดคล้องกับผลการวิจัยนั้นๆ ซึ่งค่า TDI ที่จัดตั้งในครั้งนี้เป็นค่าที่สอดคล้องกับค่า TDI ที่กำหนดขึ้นไว้โดยทางการของสหรัฐอเมริกา
การส่งออกสารเมลามีน
ในประเทศจีนนั้น มีการผลิตเมลามีนจำนวนมาก และออกวางขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งสารเมลามีนนี้จะใช้ในกระบวนการผลิตภาชนะ อาหารสัตว์ และนอกจากจีนจะขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปขายยัง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียในรูปของเศษเมลามีนที่เหลือจากโรงงานพลาสติก ซึ่งมีราคาถูก โดยผู้ขายจากจีนจะใช้ชื่อว่า ” ไบโอโปรตีน ” หรือโปรตีนเทียม แทน ชื่อเมลามีน ให้ผู้เลี้ยงสัตว์นำไปผสมในอาหารสัตว์ เพราะมีราคาถูกกว่าโปรตีนอื่น ๆ ที่เป็นพวกธัญพืชหรือเนื้อสัตว์เกือบ 5 เท่า จึงลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ในประเทศไทยเองยังตรวจไม่พบว่ามีสัตว์เสียชีวิตจากสารอันตรายนี้
สารเมลามีนปนเปื้อนในอาหารสัตว์และในนมผง
– ในการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป บริษัทผู้ผลิตจำเป็นต้องใส่สารอาหารโปรตีนผสมลงไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์นั้นมีปริมาณสารอาหารโปรตีนพอเพียง ปกติสารอาหารกลุ่มโปรตีนมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบมากกว่าสารอาหารกลุ่ม อื่น ดังนั้น จึงใช้ปริมาณธาตุไนโตรเจนเป็นตัวชี้วัดของปริมาณโปรตีนในอาหารได้ ถ้าบริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปต้องการลดต้นทุนการผลิตและเอาเปรียบลูกค้า โดยนำสารอื่นปลอมปนในอาหารสัตว์ ปริมาณโปรตีนในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์นั้นจะต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากสารเมลามีนมีปริมาณธาตุไนโตรเจนสูงกว่าที่พบในสารอาหารโปรตีนอื่นถึง 4 เท่า แต่สารเมลามีนไม่ใช่สารอาหารโปรตีน จึงมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบที่เป็นสารอาหารโปรตีนตัวจริง
– วัตถุดิบที่เป็นสารอาหารโปรตีนตัวจริงที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์มีหลายชนิด ที่นิยมใช้มากชนิดหนึ่ง คือ โปรตีนกลูเต็นสกัดจากแป้งข้าวสาลี แต่ก็มีราคาแพงกว่ามาก จึงมีบริษัทผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในจีนลักลอบผสมสารเมลามีนในแป้งกลูเต็นสกัด จากข้าวสาลี เมื่อนำแป้งกลูเต็นที่มีเมลามีนปนเปื้อนนั้นไปวัดหาปริมาณธาตุไนโตรเจน ก็จะพบว่าแป้งกลูเต็นที่มีเมลามีนปน เปื้อนนั้นมีปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง ทำให้คนเข้าใจว่าแป้งกลูเต็นที่มีเมลามีนปนเปื้อนเป็นของแท้ แต่ความจริงไม่ใช่ กลายเป็นว่ามีสารเมลามีนซึ่งเป็นตัวหลอกอยู่แทนที่ เมื่อ บริษัทผู้ผลิตส่งแป้งกลูเต็นที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนออกจำหน่ายเป็นวัตถุดิบ สำหรับการทำผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ก็จะทำให้มีสารเมลามีนปนเปื้อนไปตลอดสายการผลิตอาหารสัตว์ และเกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในที่สุด
– กรณีการปนเปื้อนสารเมลามีนในนมผงใช้เลี้ยงทารกในลักษณะคล้ายคลึงกัน เนื่องจากนมเป็นอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง และเป็นอาหารสำหรับทารก นมผงสำเร็จรูปที่ใช้ทดแทนนมมารดาถูกผลิตจากนมโคบริสุทธิ์ จะมีปริมาณโปรตีนมาตรฐานอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่ง ตรวจสอบได้โดยการวัดปริมาณธาตุไนโตรเจนในตัวอย่างนมผงนั้น ถ้าบริษัทผู้ผลิตนมผงต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยแอบผสมสารอื่นปลอมปนในนมผง ปริมาณโปรตีนในนมผงที่ถูกปลอมปนนั้น จะต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ดังนั้น เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจพบ ก็ต้องใช้ผงของแป้งอาหารอื่นที่มีปริมาณธาตุไนโตรเจนใกล้เคียงกับของผงนมโคบริสุทธิ์มาผสมแทนก็จะตรวจไม่พบ
– แป้งกลูเต็นสกัดจากข้าวสาลีหรือแป้ง อาหารอื่นนั้น มีการปนเปื้อนสารเมลามีนอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ผลิตภัณฑ์นมผงนั้นถูกปนเปื้อนด้วยสารเมลามีนไปโดยปริยาย ยิ่งมีการทดแทนผงนมโคบริสุทธิ์ด้วยผงแป้งอื่นๆ ที่ปนเปื้อนด้วยสารเมลามีนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์นมผงสำเร็จรูปนั้นมีปริมาณสารเมลามีนสูงขึ้นตามไปด้วย
– เท่าที่มีรายงาน มีบริษัทผลิตนมผงในประเทศจีนไม่น้อยกว่า 22 บริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงมากกว่า 70 ชนิดที่มีสารเมลามีนปนเปื้อน สิ่งที่เป็นความบกพร่องของทางบริษัทผู้ผลิตที่เห็นได้ชัดคือการขาดมาตรฐานที่เชื่อถือได้ในการควบคุมคุณภาพขั้นสุดท้ายก่อนกระจายสินค้าออกสู่ตลาด
การลักลอบใช้สารเมลามีน
พบว่ามีจากการลับลอบใช้เมลามีนผสมในอาหารสัตว์ และใช้เมลามีนผสมในอาหารสำเร็จรูป อาทิเช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า พิซซ่า อาหารเด็ก และอาหารสำหรับผู้แพ้กลูเตนอีกด้วย
โรคนิ่วไต
– การรับประทานนมผงที่ปนเปื้อนด้วยสารเมลามีนทำให้เกิดโรคนิ่วไต เมื่อมีสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหารที่รับประทาน เมลามีนจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้ง่าย เนื่องจากเมลามีนเป็นสารโมเลกุลเล็ก ร่างกายขับเมลามีนออกทางปัสสาวะ ถ้าหากปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก หรือร่างกายได้รับเมลามีนจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการตกผลึกของสารเมลามีนในเนื้อไต หากการตกผลึกนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจะได้ผลึกสารเมลามีนที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ผลึกเมลามีนยังอาจทำปฏิกิริยากับสารก่อนิ่วอื่นๆ ที่มีในปัสสาวะของคนทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว เช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริก หรือฟอสเฟต เป็นต้น ทำให้เกิดผลึกเชิงซ้อนที่มีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็วได้
– การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อให้หนูกินอาหารที่ผสมสารเมลามีนไปด้วยในปริมาณตั้งแต่ 2– 8 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน หนูทดลองจะเกิดนิ่วทีกระเพาะปัสสาวะ ในระยะยาวเกิดนิ่วที่ไต โรคไตวาย และโรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ
– ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในคนว่า ต้องได้รับสารเมลามีนมากน้อยเพียงใดจึงจะเกิดโรคนิ่วไต โดยเฉพาะปัญหานี้เกิดในเด็กที่ดื่มนมผงที่ปนเปื้อน จึงจำเป็นต้องนำปัจจัยเรื่องขนาดตัวเด็กมาพิจารณา ถ้าเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า ได้รับสารเมลามีนเท่าเด็กโต เด็กเล็กย่อมมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าเด็กโต
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์