รูปร่างคล้ายปลาดุก ส่วนหัวอยู่ทางด้านขวาของเจ้าของ ทอดอยู่ในอ้อมกอดของลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า ดูโอดีนัม ส่วนหางอยู่ทางซ้ายจ่อติดกับม้าม ตรงกลางมีหลอดเลือดใหญ่ทอดผ่านหลายเส้น ตับอ่อนทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหาร และสร้างฮอร์โมนอินซูลินและกลูคากอน ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลในร่างกายได้เป็นปกติ
หน้าที่ของตับอ่อน
1. ตับอ่อนทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการ ผลิตเอนไซม์ไว้ย่อยอาหาร โดยหลั่งน้ำย่อยเข้าไปในลำไส้เล็ก ผ่านทางท่อตับอ่อน น้ำย่อยจัดเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในอาหาร โดยปกติน้ำ ย่อยที่สร้างจากตับอ่อนจะยังไม่ออกฤทธิ์ จนกระทั่งเมื่อถูกหลั่งเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม จึงจะเริ่มทำหน้าที่ย่อยสารอาหารไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต แต่เมื่อใดก็ตามที่เอนไซม์ หรือน้ำย่อยเหล่านั้นออกฤทธิ์ภายในตับอ่อน หรือถูกกระตุ้นให้เข้าสู่ภาวะแอ็กทีฟ ก็จะเหมือนกับว่าน้ำย่อยที่สร้างมาจากตับอ่อน กำลังทำการย่อยเนื้อตับอ่อนเอง ทำให้เกิดพยาธิสภาพขึ้น ปรากฏอาการและอาการแสดงที่ชัดเจน
2. สร้างฮอร์โมน ตับอ่อนทำหน้าที่ สร้างฮอร์โมนอินสุลิน และกลูคากอน โดยเมื่อสังเคราะห์อินสุลินและกลูคากอนแล้ว ก็จะหลั่งเข้าไปในกระแสเลือดทันที ฮอร์โมนทั้งสองทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
น้ำย่อยของตับอ่อนน้ำย่อยของตับอ่อนเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากตับอ่อน มีสภาพเป็นเบส ประกอบด้วย
1. โซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่ง มีสมบัติเป็นเบส เหมาะสมที่จะทำให้ลำไส้เล็กมีสภาวะเป็นเบส ช่วยให้เอนไซม์ต่างๆทำงานได้ ยกเว้นเปปซิน จากกระเพาะอาหาร จะหมดประสิทธิภาพ ในขณะที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารจะมีสภาวะเป็นกรด
2. อะมัยเลส ทำหน้าที่ย่อยแป้ง เด็กทริน และมอลโทส
3. ไลเปส ทำหน้าที่ย่อยไขมัน กรดไขมัน และกลีเซอรอล
4. ทริปซิโนเจน ใน สภาวะที่เป็นเอนไซม์ที่ยังย่อยอาหารไม่ได้ แต่เมื่อผ่านถึงลำไส้เล็กตอนต้น จะเปลี่ยนสภาพเป็นทริปซิน โดยอาศัยเอนไซม์เอนเทอโรไคเนสจากผนังลำไส้เล็ก เอนไซม์ทริปซินทำหน้าที่ย่อยโปรตีนและโพลีเปปไทด์
5. ไคโมทริพซิน ทำหน้าที่ย่อยโพลีเปปไทด์ต่อจากทริปซิน
6. คาร์บอกซีเปปติเดส ทำหน้าที่ย่อยเปปไทด์ให้เป็นกรดอะมิโน
เอนไซม์กับการย่อยอาหาร เอนไซม์ มีโครงสร้างที่ประกอบขึ้นด้วยกรดอะมิโน แต่มีคุณสมบัติต่างจากโปรตีนตรงที่ เอนไซม์สามารถเร่งปฏิกิริยาทางเคมีในเซลล์ได้ โดยที่สารที่จะเป็นเอนไซม์ได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. สามารถเร่งปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ได้
2. เมื่อเกิดปฏิกิริยาแล้วเอนไซม์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและจำนวน ในขณะที่สารเริ่มต้นถูกเปลี่ยนไปเป็นสารผลิตภัณฑ์
3. อุณหภูมิมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ ซึ่งจะทำงานได้ดีในช่วง 25-40 องศาเซลเซียส
4. สภาพความเป็นกรด-ด่างมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเอนไซม์นั้นๆ
ตับอ่อนเป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง ระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) เป็น ระบบที่สำคัญอย่างยิ่งของร่างกายในการควบคุมการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งประสานขบวนการทำงานระดับเซลให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นระเบียบถูกต้อง อวัยวะที่ สำคัญของระบบนี้ล้วนเป็น “ต่อม” ซึ่งทำหน้าที่หลักในการสร้างฮอร์โมนที่สำคัญของร่างกาย ฮอร์โมนเป็นสารที่ร่างกายสร้างออกมาแล้วแพร่กระจายออกสู่กระแสเลือดไปออก ฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย กลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนทุกชนิดเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับระบบสืบพันธุ์ ไต ทางเดินอาหาร ตับ และไขมันในร่างกายอีกด้วย
ฮอร์โมนทั้งหมดในร่างกายอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 5 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นฮอร์โมนออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย กลุ่มที่สอง เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ กลุ่มที่สาม เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเซล กลุ่มที่สี่ เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสมดุลต่างๆ ภายในร่างกาย กลุ่มสุดท้าย เป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อการกระตุ้นจากภาวะภายนอกร่างกาย
เช่น จากความเครียด หรือภยันตรายต่อเซลเป็นต้น
ตับอ่อนเป็นทั้งต่อมที่สร้างเอ็น ไซม์ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือด รวมทั้งฮอร์โมนอื่นๆ ที่ร่วมกันทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้าสู่ภาวะสมดุลโดยต้าน ฤทธิ์อินซูลิน
ตับอ่อนอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ในรายที่เป็นรุนแรง ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรงและมีอัตราตายค่อนข้างสูง
พบได้บ่อยในคนที่ดื่มเหล้าจัด โรคตับอ่อนอักเสบ แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันเกิดขึ้นทันทีทันใด ส่วนใหญ่อาการจะเป็นอยู่ไม่นาน และมักจะทุเลาดีขึ้นได้เอง บางรายอาจพบว่าอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดโรคแทรกซ้อน ส่วนโรคตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรังนั้นอาการจะไม่หายขาด เป็นเพราะสาเหตุสำคัญเนื่องจากเกิดการทำลายเนื้อตับอ่อนอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของการอักเสบเป็นผลมาจากการรั่วของน้ำย่อยของตับอ่อนเองออกมาที่เนื้อเยื่อบางส่วนของตับอ่อน แต่ด้วยสาเหตุใดยังไม่ทราบแน่ชัด
โรคนี้มักพบในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี และในคนที่ดื่มสุราจัดส่วนน้อยอาจเป็นโรคแทรกของคางทูม หรือเกิดร่วมกับโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อย การได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะประเภทไทอาไซด์ บางครั้งไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด
มะเร็งตับอ่อน
เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมากชนิดหนึ่ง แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก พบในผู้ใหญ่ เพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจัย เสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป อาการ ของโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อเริ่มเป็น มักไม่มีอาการ ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น จะไปกดทับทางเดินน้ำดี ทำให้มีตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ปวดหลังได้ ซึ่งมักเป็นอาการที่พบได้ในโรคทั่วๆไป ไม่ใช่อาการเฉพาะของมะเร็งตับอ่อน ถ้าโรครุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการแน่นท้องจากมีน้ำในท้อง เบื่ออาหาร ผอมลง หรือมีอาการจากการที่โรคแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น อาการปวดกระดูกจากการมีโรคแพร่ไปกระดูก เป็นต้น
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์