ไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure)เป็นภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติไตจะทำหน้าที่ดังนี้
1.ขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ นอกจากของเสียจากอาหารแล้ว ไตยังขับถ่ายยาหรือสารแปลกปลอมอื่นๆ ซึ่งละลายน้ำได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ยานอนหลับ ยาแก้ไข้แก้ปวด ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ เป็นต้น
2.ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำตาลซึ่งถูกกรองออกมาพร้อมของเสียจะถูกดูดกลับโดยหน่วยไตคืนสู่กระแสเลือดจนหมด
3.รักษาปริมาณน้ำในร่างกายให้สมดุล ปกติถ้าเราดื่มน้ำมากเกินไป ไตจะขับน้ำที่มากเกินความต้องการออก ปัสสาวะจึงออกมาก ถ้าดื่มน้ำน้อยหรือไม่ได้รับน้ำเลยไตจะเก็บน้ำไว้ปัสสาวะจะน้อยลงและสีเข้มขึ้น
4.รักษาปริมาณของเกลือในร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล ในคนปกติถ้ารับประทานอาหารเค็มมาก ไตก็สามารถขับเกลือที่ได้รับเข้าไปเกินความต้องการได้ ถ้าร่างกายขาดเกลือไตก็สามารถเก็บเกือจากอาหารที่รับประทานไว้ได้เช่นกัน
5.ไตทำหน้าที่รักษาสมดุลของกรดและด่างภายในร่างกาย การเผาผลาญโปรตีนและไขมันเพื่อสร้างพลังงาน และเหลือกากที่เป็นกรดหรือด่างที่เกินนั้นออกทางปัสสาวะ
6.ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต โดยสร้างสารที่สามารถปรับความดันโลหิตให้อยู่ใรระดับปกติ
7.ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่สร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยที่ไตพิการมักมีเลือดจาง เพราะขาดสารไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
8.ไตเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนวิตามินให้มีประสิทธิภาพ ไตสามารถเปลี่ยนวิตามินที่ไตได้รับให้มีและสิทธิภาพในการเสริมสร้างกระดูก
หน้าที่ของไตจึงมีหลายอย่าง เมื่อไตทำงานได้ตามปกติ สุขภาพของเราก็แข็งแรงประกอบอาชีพการงานได้ราบรื่น แต่เมื่อใดไตเกิดบกพร้องหน้าที่ ทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือไม่ทำงาน ของเสียจะคั่งในเลือดเซลล์จะทำงานไม่ได้ตามปกติ มีการคั่งของน้ำ เกลือแร่ และกรดในร่างกาย ถ้าไตหยุดทำงานอย่างรวดเร็ว เซลล์ของร่างกายปรับตัวไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีอาการปรากฏให้เห็นเร็ว แต่ถ้าหยุดทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เซลล์จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้ในระยะแรก ร่างกายจะอยู่ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าเซลล์ต่างๆ ของร่างกายหยุดทำงานไปจะเกิดการเจ็บป่วยในที่สุดอาจถึงแก่ชีวิต
สาเหตุ
- ภาวะความดันเลือดต่ำเป็นเวลานานโดยสาเหตุต่างๆ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- โรคไตชนิดรุนแรงอาจทำให้เกิดมีภาวะไตวายเฉียบพลันได้
- การที่มีเฮโมโกลบินอิสระไหลเวียนอยู่ในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการให้เลือดผิดหมู่
- ภายหลังจากมีการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายอย่างมากมาย
- จากการแพ้ยาหรือสารบางชนิดที่มีพิษต่อไตเช่นซัลโฟนาไมด์
- จากการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะทันที เช่น ก้อนเลือดแข็งตัว นิ่วและหนอง เป็นหนอง
อาการ
อาการสำคัญของไตวายเฉียบพลัน คือ มีปัสสาวะลดลงอย่างรวดเร็วร่วมกับสาเหตุต่างๆ เมื่อมีไตวายฉับพลัน ถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง ไตอาจจะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 3 วัน บางครั้งไตวายฉับพลันเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยง ไตลดลง เช่นมีภาวะตกเลือด หรือช็อคและทำให้ความสามารถในการขับของเสียลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีปัสสาวะน้อย แต่เนื่องจากยังไม่มีการทำลายท่อไตดังนั้นถ้ารักษาด้วยการให้สารน้ำให้พอและแก้ภาวะเลือดไปเลี้ยงไตลดลงนี้ได้ ไตจะกลับปกติ ในเวลาเพียง 24-72 ชั่วโมงเท่านั้น และจะมีปัสสาวะออกตามปกติ แต่ถ้ารักษาไม่ทันจะมีการทำลายของท่อไตด้วย แม้จะให้สารน้ำก็ไม่ทัน ไม่สามารถเพิ่มปัสสาวะได้ และก็ไม่อาจทำให้ไตปกติได้ในช่วงสั้นแต่ถ้ารักษาได้ดี และไตไม่เสียหายรุนแรง ก็อาจหายปกติได้ในเวลาประมาณ 1สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ถ้าเกิน 3เดือนไปแล้วยังไม่ปกติถือว่ามีภาวะ ไตวายเรื้อรังเกิดขึ้น
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคภาวะไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะปัสสาวะน้อย หรือไม่มีปัสสาวะ อาศัยประวัติร่วม
กับอาการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา
ผู้ป่วยมักจะมีอาการหนักจนต้องรีบรักษาตัวในโรงพยาบาลแพทย์จะให้การรักษาอย่างเร่งด่วนและจำเป็นต้องล้างไตในผู้ป่วยบางราย ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เป็นสาเหตุของไตวายเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือด เลือดออก ท้องเสีย อาเจียน หรือช๊อค แต่ถ้ารักษาหาย ไตก็จะฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาแบบไตวายเรื้อรังหลักของการรักษาที่สำคัญคือ พยายามประทังชีวิตผู้ป่วยจนกระทั่งหน้าที่ของไตฟื้นคืนตัวขึ้นมาเองสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันมิให้เกิดมีภาวะไตวายเฉียบพลันเริ่มขึ้นเช่น ในผู้ป่วยที่มีการเสียเลือดเสียน้ำ เช่น การอาเจียน อย่างรุนแรงหรืออาการท้องร่วงอย่างรุนแรง จำเป็นต้องให้เลือดหรือน้ำทดแทนให้เพียงพอ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น
ข้อบ่งชี้ของการรักษาโดยการล้างไตในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน
- ภาวะโปตัสเซียมในเลือดสูงมาก ซึ่งให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
- ภาวะน้ำและโซเดียมเกิน ซึ่งไม่ได้ผลกับยาขับปัสสาวะขนาดสูงโดยเฉพาะ เมื่อร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอด รวมทั้งภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ได้ผลกับการรักษาโดยไบคาร์บอเนต โดยเฉพาะ ถ้าพบร่วมกับสภาวะน้ำเกินในร่างกาย
- ผู้ป่วยมีอาการขั้นรุนแรง เช่น อาการทางสมอง อาการทางระบบอาหารเช่นคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก และเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ตรวจเลือดพบว่ามีการคั่งของสารยูเรียมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับสารครีอะตินีนมากกว่า10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์