โรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) และเป็นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และอาจมีความรุนแรงมากจนก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตประจำวัน โดยความผิดปกติดังกล่าวพบถึงร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม, อารมณ์, การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็กกลุ่มอาการนี้ ได้แก่
- การขาดสมาธิ (attention deficit)
- การขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (impulsivity)
- อาการซน (hyperactivity)
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจจะมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยพอๆ กันในเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5% ของเด็กในวัยเรียนเป็นโรคสมาธิสั้น
การซน (hyperactivity) และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (Impulsivity) เด็กจะมีลักษณะ ดังนี้
1.ยุกยิก อยู่ไม่สุขนั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้าน หรือในห้องเรียน
2.ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
3.พูดมาก พูดไม่หยุด
4.เล่นเสียงดัง
5.ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
6.ชอบโพล่งคำตอบเวลาครู หรือพ่อแม่ถาม โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
7.รอคอยไม่เป็น
8.ชอบขัดจังหวะ หรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กมีลักษณะในข้อดังกล่าวรวมกันมากกว่า 6 อาการ เด็กของท่านมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากอะไร
การวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมองโดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใด คนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการ หรือความผิดปกติดีขึ้น หรือแย่ลง
มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้นการวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาล หรือช็อกโกแลตมากเกินไป การขาดวิตามิน มีผสมอาหาร โรคภูมิแพ้ การดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมส์มากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น
เด็กสามารถนั่งดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมส์ได้เป็นชั่วโมง ทำไมหมอถึงบอกว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นในขณะที่เด็กดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมส์ เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวี หรือ วีดีโอเกมส์ที่เปลี่ยนทุก 2-3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือ หรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธิอันนี้
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลักในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือเอ็กซเรย์สมองที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจสายตา (vision test) การตรวจการได้ยิน (Hearing test) การตรวจคลื่นสมอง (EEG) การตรวจเชาวน์ปัญญา และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง (Learning Disorder) ออกจากโรคสมาธิสั้น
นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการ หรือพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น
การรักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง
การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้าน ดังต่อไปนี้
- การรักษาทางยา
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็ก และครอบครัว
- การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
การรักษาทางยา
ยาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่ม Psychostimulantal ซึ่งได้แก่ Methylphenidate (RitalinR), Dextroamphetamine (DexedrineR), Adderall และ Pemoline (CylertR) ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น มีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี คือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ดีขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อน หรือคนรอบข้างดีขึ้น
ผลข้างเคียงทางยาในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง และอารมณ์ขึ้นลง หงุดหงิด อาการข้างเคียงเหล่านี้ มักจะไม่รุนแรง และดีขึ้นได้ เมื่อมีการปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาในกลุ่มอื่นต่อไป
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็ก และครอบครัว
ผู้ปกครอง และครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตี หรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรม คือ ต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชม หรือรางวัล (positive reinforcement) เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิอื่นๆ (negative reinforcement)
เด็กสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดที่ตัวเด็กมี และช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง
ในบางราย ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียดของเด็ก
การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับครูในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น
- จัดให้เด็กนั่งหน้าชั้น หรือใกล้ครูให้มากที่สุดในขณะสอน
- จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตู หน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวก โดยสิ่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน
- เขียนการบ้าน หรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ
- ตรวจสมุดจดงานของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบ
- อย่าสั่งงานให้เด็กทำ (ด้วยวาจา) พร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป
- คิดรูปแบบวิธีเตือน หรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน โดยไม่ให้เด็กเสียหน้า
- จัดให้เด็กที่อยู่ไม่สุข มีโอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ในห้อง เป็นต้น
- ให้คำชมเชย หรือรางวัล เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ว่ากล่าวรุนแรง หรือทำให้เด็กอับอายขายหน้า
- หลีกเลี่ยงการตี หรือการลงโทษทางร่างกาย เมื่อเด็กกระทำผิด
- ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด
- ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างการสอน
เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายมั้ย
เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้น จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัว และเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนักก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อการงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ใหญ่ที่มีสมาธิสั้นจะมีลักษณะหรืออาการอะไรบ้าง
- มีประวัติบ่งชี้ถึงโรคสมาธิสั้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
- ใจร้อน โมโหง่าย
- อารมณ์ขึ้นลงเร็ว
- หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
- สามารถทนกับความเครียด หรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
- วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการทำงาน
- รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
- มักจะทำงานหลายๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จสักชิ้น
- นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขา หรือลุกเดินบ่อยๆ
- เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
- ไม่มีระเบียบ
- เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงาน
- ผิดนัด หรือลืมทำเรื่องสำคัญๆ อยู่เสมอ
- มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง เช่น สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง หัวหน้า หรือผู้ร่วมงานอยู่บ่อยๆศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ที่ปรึกษา