โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นอย่างไร

โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นอย่างไร

          โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นอย่างไรโรคมือ เท้า ปาก หรือที่เรียกว่า Hand-foot-and-mouth disease เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลัน เกิดตุ่มน้ำใสขึ้นที่ปาก มือ เท้า ก้น และบริเวณอวัยวะเพศ

          ในปี 2549 ตั้งแต่ 1 มกราคม -30 กรกฎาคม 2549 สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จากสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดและสำนักอนามัยกรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 1,009 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 2-5 ปีมากถึงร้อยละ 95 มี 1 รายอายุ 8 เดือน

          เกิดจากเชื้อไวรัสหลายตัวแต่ตัวที่รุนแรงชื่อว่า “เอนเทอโรไวรัส 71” มักระบาดเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โรคนี้แพร่กระจายติดต่อถึงกันได้โดยผ่านทางอุจจาระหรือละอองน้ำมูกน้ำลาย

สาเหตุ

1. เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุมีหลายชนิด ได้แก่ Coxsackievirus A type 16 (A16) ซึ่งพบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อ Coxsackievirus A5, A7, A9, A10, B2, และ B5 ที่น่ากลัวที่สุดคือ โรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) เนื่องจากพบว่ามีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วยได้บ่อย และทำให้ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตได้ รวมทั้งปรากฏว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน
2. การระบาดของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น และพบมากในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง การระบาดในไต้หวันกับการระบาดในประเทศมาเลเซีย พบว่า เด็กเล็กจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค และมีช่วงของการระบาดอยู่ในช่วงเดียวกัน
3. เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เป็นเชื้อที่อาจพบได้ในลำไส้ ก่อให้เกิดอาการในผู้ติดเชื้อระยะแรกคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดศรีษะและอาเจียนร่วมด้วย อัตราตายจะต่ำ ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และการรักษาที่เหมาะสม แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงตามมาได้ เช่น ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และทำให้เด็กเสียชีวิตได้
4. จากการศึกษารายละเอียดของโรคในรายผู้ป่วยที่เสียชีวิต พบว่า เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เข้าไปทำลายระบบสมองของผู้ป่วย แต่ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงทำให้ส่วนของสมองบริเวณเมดัลลา พอน และก้านสมองเกิดการติดเชื้อและบวมได้

อาการ

1. โรคมือเท้าปาก มักเป็นในเด็กเล็ก มีอาการคล้ายไข้หวัด ร่วมกับมีตุ่มใสบริเวณมือ เท้า และปาก ตุ่มในช่องปากมักมีอาการเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยกินอาการและดื่มนํ้าได้ลดลง
2. เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถเข้าจู่โจมทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ได้หลายระบบ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสายพันธุ์ บางชนิดจะเข้าจับกับตัวรับของเซลล์กล้ามเนื้อเซลล์ประสาท และสมอง
ส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอัมพาต บางชนิดจะเข้าจับกับตัวรับของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ระบบสมองส่วนกลาง
ตับอ่อน โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางระบบทางเดินอาหารและหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ แล้วมีการแบ่งตัวบนเนื้อเยื่อที่เป็นเยื่อบุและต่อมน้ำเหลืองของลำคอรวมทั้งต่อมทอนซิล เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และเจริญเติบโตในกระเพาะอาหารและเนื้อเยื่อของลำไส้ เพราะเชื้อสามารถคงทนต่อความเป็นกรดและเอนซัยม์ย่อยอาหารต่างๆ ได้ดี
3. เชื้อจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นบนเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของลำไส้ จากนั้นจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดโดยมีบางส่วนที่ถูกขับออกทางอุจจาระ เชื้อจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะของระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีระยะเวลาฟักตัวระหว่าง 2-14 วัน จึงจะปรากฏมีอาการและอาการแสดงติดตามมา
4. เด็กจะได้รับเชื้อไวรัสนี้จากการรับอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่กระจายออกมากับอุจจาระ หรือสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลายของเด็กที่เป็นโรคนี้ หลังได้รับเชื้อ 4-6 วัน เด็กจะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่กินนม/อาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ จะมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และตุ่มจะขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น ซึ่งระยะตุ่มน้ำใสนี้มีเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดถึงร้อยละ 99 จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส

การวินิจฉัย

          การจำแนกชนิดของเชื้อทำได้ โดยอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเพาะเลี้ยงภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น เซลล์เพาะเลี้ยง ไข่ไก่ฟัก และสัตว์ทดลอง
          โรคนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง จะรักษาตามอาการ และเฝ้าระวังอาการที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ชัก ปอดอักเสบ สมองอักเสบ หัวใจล้มเหลว ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

แนวทางการรักษา

1. โรคมือ เท้า ปาก หายได้เอง โดยไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาตามอาการคือ การลดไข้ อาจใช้ยาชาทาแผลในปาก แนะนำให้กินของเย็น (นํ้าเย็น นํ้าแข็ง ไอศกรีม) ซึ่งจะทำให้รู้สึกชา และทำให้เด็กกินได้เพิ่มขึ้น แผลจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน
2. การแยกชนิดของเชื้อก็มีส่วนช่วยในการรักษาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อ ให้กับคนอื่นได้โดยทาง น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
3. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค
4. การทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคทันที โดยการให้อิมมูโนโกลบูลินซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และถ้ามีข้อบ่งชี้ในการเลือกใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำ หรือการดูแลของแพทย์ ระดับของภูมิต้านทานหลังการติดเชื้อจะยังคงมีอยู่ในร่างกายเพียงช่วงระยะหนึ่ง และยังก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในระยะเวลาสั้น ต่อการป้องกันการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสที่เป็นชนิดอื่นได้
การควบคุมโรคทำได้โดยการสั่งปิดโรงเรียน โรงเรียนอนุบาล และสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อหยุดยั้งการระบาด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อโดยทางอาหารและน้ำ จากมือที่มีเชื้อ

การป้องกันโรคที่สำคัญ

          คือ การแนะนำไม่ให้นำเด็กเล็กไปอยู่ในที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด ศูนย์การค้า และหากมีเด็กป่วย ควรแนะนำไม่ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นๆ
          การรักษาสุขภาพส่วนบุคคลให้ดี เช่น การรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การรับประทานอาหารและน้ำที่สะอาด  การล้างมือบ่อยๆ และรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

          การเผยแพร่ความรู้การป้องกัน ทำได้โดยเน้นให้ผู้ปกครองดูแลความสะอาดให้มากที่สุด เนื่องจากผู้ใหญ่อาจนำเชื้อมาสู่เด็กได้ และให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top