โรคพิษสุนัขบ้า

image 49

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเกิดจากเชื้อไวรัสรูปร่างคล้ายกระสุนปืน ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง และถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ความแห้ง แสงแดด ยาฆ่าเชื้อพวกคลอรีน แอลกอฮอล์ กรดหรือด่างอย่างแรง โรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมทั้งคน แต่ในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข ประมาณร้อยละ 96 ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ รองลงมา คือ แมว ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 30,000 คน ในทวีปเอเซียมักมีสุนัขเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญ ปัจจุบันในทวีปยุโรปยังมีปัญหาในสัตว์ป่า เช่น สุนัขจิ้งจอก ยังพบมีรายงานโรคนี้ในค้างคาวในเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ และเยอรมันตะวันตก ส่วนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังมีปัญหาโรคนี้ในสัตว์ป่า เช่น สกั้งค์ แรคคูน และค้างคาว ในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกว่าโรคหมาบ้าโรคหมาว้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหลังถูกกัดแล้ว เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาท เข้าสู่สมองทำให้มีอาการทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเกือบทั้งหมด

โอกาสที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์กัด ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อน สัตว์ที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากที่สุด คือ สุนัข รองลงมา คือ แมว ม้า ลิง วัว ควาย สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณร้อยละ 2 ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณร้อยละ 88 ถ้าเป็นแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่าแผลลึกหลายๆ แผล โดยธรรมชาติคนหรือสัตว์จะไม่เกิดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นเองได้ นอกจากจะถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัดจนเป็นแผล ตั้งแต่เป็นรอยขีดข่วนมีเลือดออก เป็นแผลฉีกขาดหรือแผลรูลึก หรือถูกเล็บที่ถูกน้ำลาย สัตว์ป่วยขีดข่วนจนเป็นแผลเลือดออก จึงจะเกิดโรคนี้ได้ มีรายงานทางวิชาการกล่าวไว้ว่า เชื้อที่อยู่ในน้ำลายคนป่วย ถ้าเข้าไปในเยื่อที่ปาก จมูกหรือตา จะสามารถทำให้ผู้รับเชื้อเกิดโรคนี้ได้ แต่รายงานภายในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ป่วยด้วยวิธีนี้

             ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

  • เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะ หน้าร้อนเท่านั้น
  • เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัดต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์ม หรือยาฉุนยัดในแผล
  • หลังถูกกัดต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
  • เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้
  • เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  • คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น
  • วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่

ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลและดีที่สุด โดยขณะนี้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน

สาเหตุ

เชื้อไวรัสก่อโรคเรียกว่า Rabies virus จัดอยู่ใน family Rhabdoviridae, genus Lyssavirus เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว และมีทั้งหมด 7 types ลักษณะของเชื้อ รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรง ถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อย คือ ถูกกัด โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุภายในปากคนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ที่ เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์โดยถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด

เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนโดยคน นั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตาวิธีการติดต่อของโรค เชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือน้อยมากที่พบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา ปาก จมูก ที่ไม่มีแผลหรือรอยฉีดขาด การติดต่อจากคนถึงคน สามารถเกิดได้ตามทฤษฎี เนื่องจากมีการพบเชื้อในน้ำลายของผู้ป่วยแต่ไม่เคยมีรายงานยืนยันที่แน่ชัด นอกจากการติดต่อโดยการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคของระบบประสาทส่วนกลาง การติดต่อโดยการหายใจพบน้อยมาก มีรายงานการติดต่อในถ้ำค้างคาว และในอดีตมีรายงานในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ เนื่องจากมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในบรรยากาศสูงมากและขณะนั้นไม่มี มาตรการป้องกันที่ดีพอ การติดต่อโดยค้างคาวดูดเลือด ส่วนใหญ่พบในลาตินอเมริกา สำหรับในสหรัฐอเมริกามีรายงานติดโรคมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยค้างคาวกินแมลง แต่พบได้น้อยระยะฟักตัวของโรค ระยะฟักตัวในสุนัข 7 วัน ถึง 6 เดือน ขึ้นกับบริเวณที่ได้รับเชื้อ ความรุนแรงของเชื้อ โดยเฉลี่ยประมาณ 2-6 สัปดาห์ บางรายอาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี ระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางประการ ได้แก่ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น จำนวนและความรุนแรงของเชื้อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้า หรือการล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มากระยะติดต่อของโรค โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล สุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้ 3 – 10 วันก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย พบน้อยมากที่จะเร็วกว่า 3 วัน และตลอดเวลาที่สัตว์ป่วย ในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว และสกั้งค์ มีรายงานการปล่อยเชื้อในน้ำลายได้เร็วถึง 8-18 วันก่อนแสดงอาการความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ สัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดไวต่อโรคนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าคนมีความต้านทานโรคที่เกิดขึ้นเองตาม ธรรมชาติการแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้า มักเกิดในฤดูหนาวแล้วนำไปสู่การระบาดในฤดูร้อน เนื่องจากหน้าหนาวในประเทศไทย ซึ่งเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด

ขั้นตอนการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า

image 50

เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์ป่วย เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลโดยการ กัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล เพิ่มจำนวนระยะแรกในบริเวณที่ได้รับเชื้อ จากนั้นเชื้อเข้าสู่แขนงประสาทและระบบประสาทส่วนกลาง ในเส้นประสาทเชื้อไวรัสจะไม่เพิ่มจำนวนเชื้อเข้าสู่สมองและเริ่มเพิ่มจำนวนเชื้อ จะมีอาการ คลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวายเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังเชื้อจะเพิ่มจำนวนมากทำให้สมองและไขสันหลังทำงาน ผิดปกติ จะมีอาการอัมพาตและตายในที่สุด ถ้าเชื้อเดินทางมาถึงสมองแล้วภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีด วัคซีนก็จะป้องกันไม่ได้อาการในสุนัข

โรคพิษสุนัขบ้าเป็น โรคที่อันตราย เพราะหากรับเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ปล่อยไว้จนปรากฏอาการของโรค ทำให้เสียชีวิตได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราหรือที่พบเห็น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่าง สุนัขและแมวเป็นโรคนี้ วิธีง่ายๆ คือ หมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงในบ้านของเราเองว่ามีอาการของโรคนี้หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหน้าร้อน โดยทั่วไปแล้วสุนัขจะแสดงอาการของโรคได้เร็วกว่าคน คือ หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยในสุนัขและแมวที่มีเชื้อนั้น จะมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ 2 แบบ คือ ชนิดดุร้ายและชนิดเซื่องซึม

ชนิดเซื่องซึม จะสังเกตได้ยาก เพราะแสดงอาการป่วยเหมือนกับสัตว์เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหวัด ไข้หัด สุนัขจะแปลกไปจากเดิม ชอบซุกตามมุมมืด กินอาหาร น้ำน้อยลง ถ้าถูกรบกวนจะดุร้าย กัด ต่อมาจะเป็นอัมพาตและตาย ในระยะต้นๆ สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์เมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อเอาน้ำ เอายาหรือเอาอาหารไปให้ เมื่ออาการของโรคกำเริบมากขึ้น จะมีอาการอัมพาต ลุกขึ้นเดินไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และตายในที่สุด ส่วนมากจะตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการ บางรายมีอาการปากอ้าหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่และลิ้นห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักจะเอามือล้วงแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม สุนัขจะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง ไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน ทำให้สังเกตอาการยากมาก ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน

ชนิดดุร้าย จะมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย หงุดหงิด ดุร้าย ขากรรไกรแข็ง ปากอ้า ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ม่านตาขยาย วิ่งโดยไม่มีจุดหมาย ต่อมาจะมีอาการอัมพาต เรื่มจากกล้ามเนื้อคอทำให้กลืนน้ำไม่ได้ บางครั้งจึงเรียกว่า โรคกลัวน้ำ ระบบหายใจล้มเหลว และตาย รวมระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจนตายประมาณ 10 วัน สังเกตอาการผิดปกติในช่วงแรกโดยถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรงก็จะมีอาการ เดินไปมา กระวนกระวาย พยายามหาทางออก โดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออกโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด วิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีอาการอัมพาต ขาหลังไม่มีแรง วิ่งลำบากขึ้น ขณะวิ่งอาจจะวิ่งไปล้มไป เมื่อมีอาการอัมพาตมากขึ้น ขาหน้าก็จะหมดแรง แล้วค่อยๆ ล้มลงหมดสติและตายภายใน 3-6 วัน หลังจากที่แสดงอาการ ส่วนในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข มีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมที่จะสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2-4 วัน ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด


อาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้า

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่สามารถกักขังไว้ได้ ให้กักสัตว์นั้นอยู่ในบริเวณไม่ให้หนีไปได้ เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์แสดงอาการป่วย หรือไม่สามารถกักขังสัตว์นั้นได้ หรือถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่น ให้รีบทำลายสัตว์นั้น และรับส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที เมื่อสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตายลง ให้ตัดหัวหรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจได้ทั้งตัว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด ห่อด้วยกระดาษหลายๆ ขั้น และใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็ง ปิดฉลาก ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ของผู้ส่งตรวจ และวัน เดือน ปี ที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ และต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร มีดที่ใช้ตัดหัวสัตว์ เครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยยังมี ชีวิตอยู่ – น้ำลาย : เก็บน้ำลายตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ และเก็บเป็นระยะ ในวันที่ 4, 5, 6, 12 และ 24 หลังเริ่มแสดงอาการ โดยวิธีดูดจากบริเวณต่อมน้ำลาย หรือเก็บจากน้ำลายที่ไหลออกมาใส่ภาชนะปราศจากเชื้อประมาณ 5 – 10 มิลลิลิตร – ปมรากผมท้ายทอย : ถอนเส้นผมให้ติดปมรากผมจากบริเวณท้ายทอย ประมาณ 10-20 เส้น ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อ – ปัสสาวะ : เก็บตั้งแต่มีอาการและเก็บเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับการเก็บน้ำลาย ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อ ประมาณ 20 มิลลิลิตร – น้ำไขสันหลัง : เก็บน้ำไขสันหลังประมาณ 3-5 มิลลิลิตร ในวันที่ 7 และ 14 หลังจากเริ่มมีอาการใส่ภาชนะที่ปราศจากเชื้อ – น้ำเหลือง : เจาะเลือดประมาณ 5 มิลลิลิตร ใส่ในภาชนะที่ปราศจากเชื้อการเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยเสีย ชีวิต – ชิ้นเนื้อท้ายทอย : ตัดชิ้นเนื้อบริเวณท้ายทอยแช่ในน้ำเกลือ (0.85% NaCl) ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อ – เซลล์กระจกตา : นำสไลด์ที่สะอาดปราศจากเชื้อที่ได้ทำเครื่องหมายไว้แล้ว แตะบนกระจกตาของผู้ป่วยจำนวน 3 แผ่นๆ ละ 2 จุด ทิ้งให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง 10 นาที – เนื้อสมอง : ให้เก็บเนื้อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส และบริเวณก้านสมอง ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อวิธีตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ – ตรวจหาแอนติเจนต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าด้วยวิธี Fluorescent Antibody Technic (FAT) – ตรวจยืนยันด้วยการแยกเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในกรณีที่ผลการตรวจหาแอนติเจน ด้วยวิธี FAT เป็นลบ สามารถตรวจยืนยันได้โดยวิธี Mouse Inoculaltion Test (MIT) หรือ Cell Isolation – ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสพิษสุนัขบ้าโดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) ใช้เป็นวิธีพิเศษในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลด้วยวิธีการตรวจหาแอนติเจนและวิธี การแยกเชื้อไวรัส หรือกรณีตัวอย่างที่ไม่ใช่เนื้อสมอง – ตรวจหาระดับนิวทรัลไลซิ่งแอนติบอดี Mouse Neutralization Test (MNT) หรือ Rapid Fluorescent Focus Inhibition Test (RFFIT)

ข้อควรปฏิบัติหลังถูกสุนัขกัด

รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆ ครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผลทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน อย่าใส่สิ่งอื่น เช่น เกลือ ยาฉุน ลงในแผล ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลาย ซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน โดยยังไม่ต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมากถ้าเย็บแผล ทานยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ) ควรกักขัง และเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันทีการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก ชา หรือ คันรอบๆ แผล มีไข้ขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มี เจ้าของ หรือกัดแล้วหนี ควรมาโรงพยาบาลทันที ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้ ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะ ติดโรคได้ ไปพบสัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนเพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับ ตัวสัตว์ เช่น ชนิดสัตว์ สี เพศ พันธุ์ อายุ สถานที่ถูกกัด เพื่อวางมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่อไป

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

  • ไม่ปล่อยสุนัขเพ่นพ่าน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี
  • อย่าให้มีลูกมาก
  • สุนัขจรจัดที่อยู่ข้างถนนเป็นตัวแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ อาจกัดคนที่เดินผ่านไปมาหรือกัดสุนัขอื่นทำให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ เป็นหน้าที่ของเจ้าของสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า 2535 ที่จะต้องนำสุนัขอายุระหว่าง 2-4 เดือน ได้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดซ้ำตามที่สัตวแพทย์กำหนด โดยการทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย หรือฉีดยาคุมกำเนิดสุนัขตัวเมีย ไม่ให้มีลูกมากเกินไปจนไม่อาจเลี้ยงดูได้ต้องนำไปปล่อยกลายเป็๋นสุนัขจรจัด และเป็นปัญหาของสังคม
  • แจ้งสัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีที่พบเห็นสุนัขหรือสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
    สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร ไม่ได้บอกว่าสัตว์นั้นไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นท่านควรได้รับวัคซีน ซึ่งวัคซีนมี 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิดธรรมดา ซึ่งต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) เป็นภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีราคาแพง วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

ในปัจจุบันใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าชนิดที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ฉีด 5 ครั้งเท่านั้น) เพราะมีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท และควรฉีดเซรุ่มร่วมด้วย ถ้าบาดแผลมีเลือดออก ถูกเลียที่ริมฝีปาก น้ำลายกระเด็นเข้าตา สถานเสาวภาใช้โปรแกรมการฉีดวัคซีน 2 แบบคือ แบบปกติฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และแบบประหยัดฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แต่ละแบบจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 5 ครั้ง

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเซรุ่มส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้จาก บ้าหรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าใน ปริมาณที่มาก เซรุ่มจะไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด โดยการฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลดีที่สุด แต่เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำมาจากเลือดคน ดังนั้นสถานเสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจาดเลือด ม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยขอรับบริจาคโลหิตจากคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบแล้ว และต้องการเข้าโครงการเพื่อทำบุญ กรุณาติดต่อ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ทุกวันเวลาราชการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ โดยเฉพาะเด็กที่มักเล่นกับสัตว์และมีโอกาสถูกสัตว์กัด มักมีบาดแผลที่รุนแรง บริเวณใบหน้า ศีรษะ หรือถูกเลียมือที่มีแผลหรือที่ปาก โดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ หรือควรฉีดป้องกันในบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้นเมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล และไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบๆ แผล

พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535

  • สุนัขทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 4 เดือน และฉีดครั้งต่อไป ตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์กำหนด ในการโอนกรรมสิทธิ์สัตว์ เจ้าของสัตว์ต้องมอบเครื่องหมาย และใบรับรองให้ผู้รับมอบสุนัขที่พบในที่สาธารณะ และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ หรือมีเครื่องหมายปลอม เจ้าหน้าที่หรือพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจจับสุนัขเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของมารับภายใน 5 วัน จะทำลายสุนัขนั้น
  • เมื่อสัตว์ถูกสัตว์อื่นที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ต้องแจ้งเจ้าพนักงานภายใน 24 ชั่วโมง เฝ้าดูอาการ 6 เดือน และห้ามจำหน่ายจ่ายโอน

หน้าที่ของเจ้าของสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535

  • นำสุนัขอายุ 2-4 เดือน ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดซ้ำตามที่กำหนดและติดเครื่องหมายแสดงการฉีดวัคซีน และเก็บใบรับรองการฉีดวัคซีนไว้ ถ้าสูญหายขอรับใหม่ภายใน 15 วัน ถ้าให้เจ้าหน้าที่ไปฉีดที่บ้านจะต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • ไม่ปล่อยสัตว์ออกมาในที่สาธารณะ สัตว์จะถูกจับไปขัง 5 วัน ถ้าไม่มีผู้มารับจะถูกทำลาย
  • ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ขัดขวางการเข้าไปในบ้านหรือตรวจยานพาหนะ เพื่อฉีดวัคซีนให้สุนัขที่สมควรได้รับการฉีดวัคซีน หรือนำหัวสัตว์ที่ตายแล้วส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้า หรือตรวจสัตว์ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือตรวจสัตว์ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  • เมื่อสัตว์ถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ต้องแจ้งเจ้าพนักงานภายใน 24 ชั่วโมง เฝ้าดูอาการ 6 เดือน และห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ถ้าสัตว์แสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าหรือสูญหายให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง
  • การโอนกรรมสิทธิ์สัตว์ ต้องมอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และใบรับรองการฉีดวัคซีนให้ผู้รับมอบ
    นำสุนัขไปรับการฉีดวัคซีน ตามวัน เวลา และสถานที่ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ประกาศกำหนดไว้ล่วงหน้า 7 วัน ทั้งนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top