โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 2: โรคปอดบวม

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคที่มากับฤดูหนาวส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และที่พบบ่อยได้แก่ โรคไข้หวัดทั่วไป โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปวดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส ในตอนที่ 1 เราได้แนะนำโรคไข้หวัดทั่วไปและโรคไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว ส่วนตอนที่ 2 นี้เราขอเสนอรายละเอียด “โรคปอดบวม” เพื่อให้ทุกท่านเตรียมป้องกันโรคในช่วงหน้าหนาวนี้กันค่ะ

          โรคปอดบวม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิวโมเนีย (pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (mycloplasma) และเชื้อรา เมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ปอดบวม” นั่นเอง เมื่อเชื้อโรคถูกทำลายแล้วจะทำให้เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย

จากข้อมูลของสำนักงานระบาดวิทยา ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจำนวน 170,486 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 267.63 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยมีอัตราเสียชีวิต 1.95 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โรคนี้พบบ่อยช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคม และจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ดังนั้นเด็กเล็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

วิธีการติดต่อ

image 46
  1. โดยการหายใจนำเชื้อโรคเข้าปอดโดยตรง จากการสูดหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อปนอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริเวณที่ มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ห้องเรียน โรงภาพยนตร์ สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ผู้อพยพ โรงแรม หอพัก กองทหาร เรือนจำ
  2. โดยการสำลักเชื้อจากทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร ถ้าขณะนั้น ร่างกายอ่อนแอหรือกำลังป่วยเป็นไข้หวัด คออักเสบ หรือกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกผู้มีโรคเรื้อรังเช่นร่วมด้วย ก็จะทำให้ติดเชื้อโรคปอด อักเสบได้ง่าย
  3. โดยทางกระแสเลือด ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่อวัยวะอื่นมาก่อน แล้วเชื้อนั้นกระจายไปตามกระแสเลือดแล้วมาที่ปอด ทำให้ ปอดติดเชื้อในที่สุด
  4. การติดเชื้อที่ปอดอาจเกิดจากการลุกลามของเชื้อที่ฝังตัวอยู่ในอวัยวะใกล้กับปอด เช่น ฝีที่ตับแล้วเชื้อโรคนั้นแตกเข้าเนื้อปอด โดยตรง
  5. โดยการแพร่เชื้อจากมือจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสผู้อื่น

ระยะติดต่อ

          ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าเชื้อในเสมหะทั้งจากปากและจมูกจะมีปริมาณน้อยและเชื้อไม่ร้ายแรงพอที่จะทำให้เกิดโรคได้ สำหรับเด็กที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ก็สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ จึงต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน

อาการโรคปอดบวม

          ไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม และถ้าเกิดหลอดลมภายในปอดตีบก็อาจได้เกิดเสียงหายใจวี๊ด (wheeze) รายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว และถ้าหายใจลำบากอยู่นาน จะทำให้ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย หรือซึมลง หรือหมดสติในที่สุด

การรักษา แบ่งเป็นการรักษาทั่วไป และการรักษาเฉพาะ

การรักษาทั่วไป

  • แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ แต่ถ้ารายที่หอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก
  • ควรให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
  • ควรให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
  • พิจารณาให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่
  • ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด
  • ควรทำกายภาพทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้นให้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาลดไข้

การรักษาเฉพาะ

  • ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไม่มียารักษาที่เฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการให้รักษาตามอาการ รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม เช่นการเคาะปอด การดูดเสมหะ การฝึกไอให้มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะ เช่นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย
  • ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้เร็วที่สุด และเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิด โดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาคลินิกในการตัดสินใจเลือกยาปฏิชีวนะนั้น

มาตรการป้องกันโรคปอดบวม

1.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว
2.หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
3.ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
4.แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
5.แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งย่อมาจากคำว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือโรครุนแรงที่เกิดจาก

การติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumonia) ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ได้แก่

  • ผู้ที่ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิด หรือถูกตัดม้าม หรือ ม้ามทำหน้าที่ไม่ดี
  • ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงผิดรูปชนิดซิกเกิลเซลล์ (sickle cell anemia)
  • ผู้ที่เป็นโรคไตชนิด เนฟโฟรติค ซินโดรม (nephrotic syndrome)
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังเช่น ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะแรกหรือภูมิคุ้มกันเริ่มดีขึ้นหลังได้รับการรักษา เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกและ ผู้ป่วยเอดส์ที่เริ่มตอบสนองต่อยาต้านไวรัสเอชไอวี
  • สำหรับผู้สูงอายุทั่วไป ควรพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีตามความเหมาะสม
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีมีความปลอดภัยสูง และสามารถฉีดพร้อมกันได้ กรณีที่ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลให้ฉีดวัคซีนก่อนกลับบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อของทางเดินหายใจในครั้งต่อไป

มาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม

  • ควรแยกคนป่วยออกจากคนที่ไม่ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • ควรทำลายเชื้อที่ออกมากับสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย
  • แนะนำให้ผู้ป่วยปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะ
  • เมื่อมีไข้หรือไอมาก ควรพบแพทย์ กรณีที่ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรพักอยู่ภายในบ้านอย่างน้อย 2 ถึง 3 วัน เพราะเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มาก

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top