เป็นภาวะที่บุคคลปฏิเสธที่จะรับประทานอาหารเพื่อคงน้ำหนักไว้ในระดับปกติ โดยมีทัศนคติที่ผิดต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวผิดปกติ คนที่เป็นโรคนี้ จะเป็นคนที่กลัวอ้วน กลัวเอามากๆ เห็นน้ำหนักตัวเองเป็นศัตรู ปฏิเสธอาหารอย่างมากจนผ่ายผอม ในสังคมปัจจุบันสนใจน้ำหนักตัว ไม่ต้องการอ้วน ไม่ต้องการหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน คาดว่ามีผู้ป่วยโรคกลัวอ้วนเสียจนผอมเกินไปราวร้อยละ 0.5-1.8 ของประชากร มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นราว 5-10 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ในผู้ป่วยทั้งหมดจะเป็นผู้ชาย ไม่เกินร้อยละ 5-10 อาการของโรคมักเริ่มตอนวัยรุ่น โดยเฉลี่ยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุ 17 ปี มีบ้างที่เป็นตอนเรียนมัธยมต้น หรือตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบมากในประเทศอุตสาหกรรม หรือประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศด้อยพัฒนาจะพบน้อยกว่า
สาเหตุ
- ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม
- ผู้ป่วยมักเป็นวัยรุ่นที่เป็น เด็กดี เด็กตัวอย่าง ของครอบครัว มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์แบบ ย้ำคิดย้ำทำ ขาดทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม มีความเป็นตัวของตัวเอง มีปัญหาความขัดแย้งในจิตใจเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกไม่มีค่า มักทำตามความคาดหวังของผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับเกิดจากการมองภาพตนเองบิดเบือน มองเห็นสัดส่วนร่างกายอ้วนไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้อ้วน มักปฏิเสธว่าไม่หิว ไม่ป่วย บอกว่าสบายดี มักแยกแยะความหิวไม่ได้
- บางรายพบปัจจัยที่เกี่ยวกับครอบครัว ถูกเลี้ยงดูแบบใกล้ชิด หรือปกป้องมากเกินไป
- ปัจจัยทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ ค่านิยมยึดติดอยู่กับความผอมบาง ต้องการสวย เชื่อว่าผู้หญิงผอม คือ แฟชั่น คิดว่าคนอ้วนเป็นคนที่ดูแลตนเองไม่ดี หรือคิดว่าคุณค่าวัยรุ่นขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตาที่น่ารักหรือหุ่นดี
- การที่วัยรุ่นมีวิกฤติของชีวิต เช่น ความต้องการเป็นตัวของตัวเอง ค่านิยม สัมพันธภาพกับผู้อื่น บางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งกับบิดามารดา โดยเฉพาะการมีสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ
ปัจจัยเสี่ยงของโรค
- การเลี้ยงดูของพ่อแม่
- ประวัติคนในครอบครัวเป้นโรคนี้
- ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์
- โรคทางอารมณ์ ซึมเศร้า บุคคลิกภาพผิดปกติ ติดสารเสพติด
- นักร้อง นักแสดง นางแบบ นักเต้นบัลเลต์ ยิมนาสติก
- ในผู้ชายพบบ่อยในพวกเกย์และนักวิ่งมาราธอน
อาการ
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน หรือนักศึกษาสาวที่ขยันเรียน มีความรับผิดชอบสูง ผลการเรียนดี เป็นคนค่อนข้าง “สมบูรณ์แบบ” บิดามารดามักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูง ผู้ป่วยมักไม่ชอบงานสังคมสังสรรค์นัก
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานราว 15% เช่น ควรหนัก 60 กิโลกรัม ก็หนักเพียง 50 กก. หรือควรหนัก 50 กก. ก็เหลือแค่ 42 กก. หรือน้อยกว่าเป็นต้น โรคนี้ถือเป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง โดยมีความเชื่อผิดเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างตัวเอง บางคนยังเชื่อว่า น้ำหนักมากเกินไปทั้งๆ ที่ความจริงอยู่ในขั้นผอมแห้ง บางคนเชื่อว่าอวัยวะบางส่วนของตัวอ้วนไป ความคิดเต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับอาหาร น้ำหนักตัว และการควบคุมอาหาร ในที่สุดเมื่อสนใจแต่เรื่องพวกนี้ ก็จะไม่มีเวลาสนใจเรื่องอื่น ทำให้การเรียน การทำงาน และมนุษยสัมพันธ์แย่ลง
- ผู้ป่วยจะกลัวมากๆ เกี่ยวกับการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น และที่แปลกคือ เมื่อยิ่งผอม น้ำหนักลด กลับยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก ความกลัวน้ำหนักเพิ่มนั้น มากเสียยิ่งกว่ากลัวตายจากการปฏิเสธอาหาร แทนที่จะรู้สึกผ่อนคลายหรือเบาใจ เมื่อน้ำหนักลดลงได้เขากลับกลัวมากขึ้นไปอีก
- จะพบอาการไม่มีประจำเดือนได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ สาเหตุเกิดจากความเครียดอย่างรุนแรงจากการอดอาหาร ทำให้ฮอร์โมนของสมองที่ควบคุมการมีประจำเดือนลดลง การอดอาหารยังไปกดการหลั่งของฮอร์โมนเพศ ทำให้ขาดความสนใจทางเพศ การพัฒนาทางเพศจะล่าช้าในผู้ป่วยพวกนี้ สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ป่วยมักแยกตัวจากสังคม เพราะขาดความเชื่อมั่น นับถือตัวเองและกลัวว่าเมื่อเข้าสังคมแล้วจะดำเนินชีวิตอย่างที่ทำอยู่ไม่ได้
- ผู้ป่วยมักมีความประพฤติแบบย้ำคิด-ย้ำทำ ร่วมด้วย ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ส่วนตัวอาจนับเมล็ดข้าวที่รับประทาน คำนวณพลังงานที่ได้จากอาหาร ชั่งน้ำหนัก วัดสัดส่วนของร่างกาย ผู้ป่วยโรคนี้จะปฏิเสธความเจ็บป่วยของตัวเองไม่ยอมรับว่าป่วย ทำให้รักษาลำบาก คิดว่าความคิดตนเองถูกต้อง ส่วนคนอื่นต่างหากที่เพี้ยนไป
อาการเตือนของโรค
- ตั้งใจอดอาหารด้วยตัวเอง และน้ำหนักลดลง
- กลัวการเพิ่มน้ำหนักตัว หลังรับประทานอาหารหรือชั่งน้ำหนักตัว พบการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
- ปฏิเสธการรับประทานอาหาร
- ปฏิเสธความหิว กลัวอ้วนอย่างที่ควบคุมไม่ได้
- ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ชั่งน้ำหนักตัวบ่อยเกินปกติ
- มีขนอ่อนมากขึ้นตามตัวแขนขา หรือใบหน้า
- ขี้หนาว
- ประจำเดือนไม่มาหรือไม่สม่ำเสมอ
- ผมบางลง
- มีความรู้สึกว่าตัวเองอ้วนทั้งๆ ที่ความเป็นจริงผอมมาก มีความกังวลเรื่องรูปร่างมากเกินปกติ
พฤติกรรมของผู้ป่วยมีได้ 2 แบบ
- แบบจำกัด (Restricting Type) หมายถึงจะรับประทานอาหารน้อย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูง พวกนี้มักจะออกกำลังกายมาก และหนัก ในช่วงที่มีอาการ ไม่ได้มีการรับประทานครั้งละมากๆ หรือมีการขับอาหารจากร่างกาย เช่น ทำให้ตนเองอาเจียน หรือใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนถ่ายอย่างพร่ำเพรื่อ หรือเป็นประจำ
- แบบกินมาก/ออกมาก (Binge-Eating/Purging Type) หมายถึงเมื่อรับประทานอาหารแล้วใช้วิธีทำให้ตัวเองอาเจียน ใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนอุจจาระ ในช่วงที่มีอาการ จะมีการรับประทานครั้งละมากๆ หรือมีการขับอาหารจากร่างกาย เช่น ทำให้ตนเองอาเจียน หรือใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนถ่าย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรค
1.น้ำหนักตัวต่ำกว่าร้อยละ 85 ของน้ำหนักตัวปกติตามอายุและส่วนสูง
2.กลัวอ้วนอย่างมาก กลัวการที่น้ำหนักขึ้น แม้ว่าตนเองจะมีน้ำหนักตัวน้อย
3.การรับรู้น้ำหนักตัว หรือรูปร่างของตนผิดปกติ พบปัญหาในการประเมินตนเองขึ้นอยู่กับเรื่องน้ำ หนักตัวหรือรูปร่างอย่างมาก หรือปฏิเสธปัญหาน้ำหนักตัวที่ต่ำอยู่ในขณะนั้น
4.ภาวะขาดประจำเดือนในหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนแล้ว ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 3 รอบ
การวินิจฉัยแยกโรค
- โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง
- โรคเบาหวาน ภาวะฮัยเปอร์ไทรอยด์
- โรคระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร
- โรคเอดส์
- โรคทางจิตเวช เช่น จิตเภท ซึมเศร้า
โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่เกิดจากผลของการอดอาหาร เป็นความพยายามของร่างกายที่จะอนุรักษ์พลังงานไว้ใช้ในภาวะที่ขาดแคลน
- ผู้ป่วยที่ใช้วิธีอาเจียน ถ่ายท้อง หรือขับปัสสาวะจะสูญเสียธาตุโปตัสเซียม เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและกล้ามเนื้อเกร็งได้
- โรคแทรกทางหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ อาจหัวใจเต้นช้าแค่ 40 ครั้งต่อนาที
- อาเจียนบ่อยๆ ทำให้เคลือบฟันสึกกร่อน และต่อมน้ำลายบวมคล้ายเป็นคางทูม กล้ามเนื้อกระเพาะและลำไส้จะลีบและอ่อนลงจาการที่ใช้งานน้อย ทำให้อาหารคงอยู่ในและท้องผูก
- ผิวหนังจะแห้ง ผมบนศีรษะบางลง มีขนอ่อนตามลำตัวและแขนขามากขึ้น
- อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง กระดูกบางลง กระดูกหักง่าย
- ไตทำงานผิดปกติ อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
- เม็ดโลหิตและเกร็ดเลือดลดน้อยลง
การรักษา
ประเมินว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และมีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง
- เป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาคือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการอดอาหาร ผู้ป่วย และครอบครัว จะได้รับคำแนะนำและอธิบายถึงแผนการรักษา
- นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ ล้วนมีความสำคัญในการร่วมทีมรักษา เริ่มแรกต้องค่อยๆ เพิ่มอาหาร เพื่อป้องกันกระเพาะขยายตัว ป้องกันการบวมและหัวใจล้มเหลวบางกรณีต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยที่น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 30 ของน้ำหนักปกติ ผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยที่ติดยาระบาย หรือยาขับปัสสาวะและกรณีที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกแล้วไม่ได้ผล
- การรักษาในโรงพยาบาลจะใช้เวลาประมาณ 10-12 สัปดาห์ จึงจะเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ควรลองปล่อยผู้ป่วยกลับบ้านเฉพาะวันหยุดดูก่อน เพื่อปรับตัวสักระยะหนึ่ง เมื่อกลับบ้านได้แล้วยังต้องนัดกลับมาติดตามการรักษาไปอีกเป็นเดือน หรือเป็นปีทีเดียว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- เริ่มการรักษาทางจิตตั้งแต่แรก และติดตามไปเรื่อยๆ จนผู้ป่วยปกติ
- พฤติกรรมบำบัดมีส่วนในการรักษามาก ทั้งวิธีให้รางวัลและลงโทษ
- ในผู้ป่วยอายุน้อยการใช้วิธีครอบครัวบำบัดจะได้ผลดีมาก ต้องระลึกเสมอว่าโรคนี้มีผลกระทบต่อครอบครัวทั้งหมด การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
การดูแลและวิธีแก้ไข
- เสริมให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นในตนเอง
- เสริมพลังอำนาจในตนเองให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ได้
- เรียนรู้ที่จะเคารพตนเอง เชื่อว่าตนเองเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัวหรือ สังคมเท่านั้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
- ส่งเสริมทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์