เขาว่ากันว่า “ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว” คืออาหารจานโปรดอันดับหนึ่งของคนไทย แต่สิ่งที่น่าจะเป็นของโปรดยิ่งกว่าคงจะเป็น “น้ำปลาพริก” ถ้วยเล็กๆ ที่ไม่ว่าจะสั่งเมนูไหน อร่อยขึ้นชื่ออย่างไร ขอให้ฉันได้เติมน้ำปลาเพื่อรสชาติที่เข้มข้นไว้ก่อน รสเค็มเป็นรสชาติยอดนิยมคู่ชาติบ้านเมืองมาช้านาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย 2 แสนคน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 คนต่อปี
ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียที่อยู่ในเลือดจากทั่วร่างกาย ออกมาเป็นน้ำปัสสาวะ นอกจากไตจะมีหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังทำหน้าที่สำคัญอื่นอีก ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิต การควบคุมสมดุลของเกลือแร่และภาวะกรดด่างภายในร่างกาย ดังนั้นหากเราบริโภคอาหารที่มีรสเค็มมากเกินพอดี ปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดจะเพิ่มภาระให้กับไตในการกรองของเสียมากขึ้น ทำให้ไตสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานไปจากเดิมเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน ภาวะนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “โรคไตเรื้อรัง” นอกจากอาหารที่มีรสชาติเค็มแล้ว ยาแก้อักเสบ ลดปวดข้อ ยาไข้หวัดลดน้ำมูก ยาความดัน และ อาหารเสริมบางประเภทยังมีส่วนทำให้ไตเสื่อมก่อนเวลาอันควร ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังยังรวมไปถึง ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต และ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลูปัส โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น
สำหรับหลายคนการรับประทานคือการเติมความสุขในช่วงเวลาสั้นๆ ยิ่งในสมัยนี้ ข้อจำกัดเกี่ยวกับอาหารมีมากขึ้นทุกวันจนอาจทำให้เรารู้สึกได้ว่า ที่ผ่านมาเราต่างรับประทานอาหารอย่างผิดๆหรือไม่ มันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนที่ต้องปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานเพื่อสุขภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากจะเป็นการรักษาสุขภาพแล้วยังเป็นการรักษาเงินในกระเป๋าอีกด้วย เนื่องจากโรคไตเรื้อรังจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณ 30,000 บาทต่อปี โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตในระยะที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นท้ายที่ผู้ป่วยมักเริ่มรับรู้ว่าตนเองเป็นโรคไต
เหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังอยู่ในภาวะโรคไตเนื่องจากว่าในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการหรืออาการไม่ชัดเจน ผู้ป่วยมักเกิดอาการเมื่อการทำงานของไตเสื่อมมากแล้วและแสดงอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลียไม่มีแรง ง่วงซึมหลับง่าย ขาดสมาธิ แขนขาบวมตาบวม ปัสสาวะน้อยลงเวลากลางวัน ตื่นมาปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน ปัสสาวะเป็นฟอง ผิวหนังแห้งคัน สีผิวคล้ำ เป็นต้น ที่มากไปกว่านั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตมักทราบว่าตนเองเป็นโรคไตโดยเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคอื่นๆ และมีการตรวจปัสสาวะจึงได้ค้นพบโรคไตโดยบังเอิญ
การตรวจหาโรคไตเสื่อม
การตรวจหาโรคไตนั้นสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเป็นประจำทุกปีควบคู่กันไปกับการตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำผลมาคำนวณโดยใช้ผลเลือดครีเอตินิน ผลตรวจปัสสาวะ และผลตรวจระดับโปรตีนหรือระดับโปรตีนขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครอัลบูมิน และนำค่าที่ได้มาหาสัดส่วนของโปรตีนในปัสสาวะต่อครีเอตินินในปัสสาวะ นอกจากการตรวจคัดกรองโรคไตด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะเบื้องต้นแล้ว การถ่ายภาพไตและระบบทางเดินปัสสาวะด้วยอัลตร้าซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซีทีสแกน (CT scan) เพื่อดูโครงสร้างของไต ก็สามารถทำได้เช่นกันโดยแพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อตรวจภาวะที่ไตเสื่อมการทำงาน
การรักษาโรคไตเสื่อม
หากผู้ป่วยพบว่าตนเองเป็นโรคไตในระยะที่ 1-3 ยายังสามารถควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามใหญ่โตได้ แต่หากอาการอยู่นอกเหนือการควบคุมแล้วนั้น ผู้ป่วยโรคไตยังมีทางออกในการรักษาโรคอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การล้างไตผ่านหน้าท้อง การฟอกเลือด และ การผ่าตัดเปลี่ยนไต
การล้างไตผ่านหน้าท้อง เป็นวิธีที่ผู้ป่วยหรือญาติสามารถทำเองได้ที่บ้านหลังจากแพทย์ได้ทำการเจาะรูบริเวณหน้าท้องสำหรับใส่สายท่อล้างไต และมีการอบรมจากหลักสูตรระยะสั้น ผู้ป่วยสามารถต่อสายที่หน้าท้องเข้ากับถุงน้ำยาโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ แล้วจึงปล่อยน้ำยาเข้าไปในท้องจนหมด จากนั้นปลดสายออกจากถุงและปล่อยน้ำยาทิ้งไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงต่อถุงเปล่าเข้ากับสายที่หน้าท้องอีกครั้งเพื่อระบายน้ำยาออกจากช่องท้อง เมื่อระบายหมดแล้วจึงต่อน้ำยาถุงใหม่เข้าไปอีก ทำซ้ำเช่นนี้อย่างนี้วันละ 4 ครั้ง หรือ ถ้ามีเครื่องช่วยก็จะต่อสายที่หน้าท้องเฉพาะกลางคืนขณะนอนหลับ เพื่อให้เครื่องปล่อยน้ำยาเข้าออกจากช่องท้องโดยอัตโนมัติตลอดทั้งคืน และจะปลดสายออกในตอนเช้า
ส่วนการฟอกเลือดนั้นจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนน้อยกว่าโดยแพทย์จะผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดที่แขน (AV Fistula or Graft) ซึ่งต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1-6 เดือนก่อนทำการฟอกเลือด เมื่อได้รับการผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดที่แขนเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมาที่ศูนย์ไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยพยาบาลของศูนย์ไตเทียมจะแทงเส้นที่แขนเพื่อนำเลือดออกจากตัวผู้ป่วยไป เข้าเครื่องฟอกเลือด เครื่องจะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำออกไป พร้อมทั้งปรับสมดุลกรดด่างและเกลือแร่ในร่างกาย ใช้เวลาในการฟอกเลือดอย่างน้อย 3-5 ชั่วโมง
สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลันระยะท้าย ซึ่งเกิดจากโรคที่ทำให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่นจากการเสียเลือดจากอุบัติเหตุ ท้องเสียรุนแรง ภาวะขาดน้ำรุนแรง ภาวะไตอักเสบอย่างรุนแรง ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตันเฉียบพลัน จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่าย เปลี่ยนไต ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายและประเมินอย่างละเอียดจากอายุรแพทย์โรคไต ว่ามีข้อห้ามในการปลูกถ่ายเปลี่ยนไตหรือไม่ จากนั้นจึงจะสามารถส่งรายชื่อผู้ป่วยไปยังศูนย์บริจาคอวัยวะเพื่อที่จะรอไตบริจาคเพื่อการปลูกถ่าย ซึ่งอาจต้องรอคิวนานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะได้ไตที่เข้าได้กับผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยมีสามี ภรรยา บุตร หรือญาติสายตรง ที่มีกรุ๊ปเลือดกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยและเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถบริจาคไตได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องรอคิวสำหรับไตบริจาค ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่ล้างไตทางหน้าท้อง หรือการฟอกเลือด และมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติ ยกเว้นเรื่องการระวังการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้วยังคงต้องรับประทานยากด ภูมิคุ้มกันตลอดเวลาที่มีไตอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายให้
แม้ว่าโรคไตเป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่แน่นอนว่าการเป็นโรคไตหรือโรคอื่นๆ ย่อมมีผลกระทบกับความสุขและคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน สิ่งที่เรารับเข้าร่างกายไม่ว่าจะด้วยการรับประทาน หรือ วิธีอื่นๆ หากเกินความพอดี แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราตระหนักดีว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหาร หรือ ยา ต่างสามารถมีผลในทางลบกับเราได้เสมอ ลองหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นตั้งแต่วันนี้ จะดีแค่ไหนหากระยะทางในอีกหลายสิบปีข้างหน้าของคุณจะเต็มไปด้วยพลังและสุขภาพที่สมบูรณ์พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ของช่วงชีวิต
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์