โรคไข้เหลือง (yellow fever)

โรคไข้เหลือง (yellow fever)เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน พบการระบาดในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ โรคนี้เป้นโรคเก่าแก่ที่รู้จักกันมานานกว่า 400 ปีแล้ว การติดเชื้อไวรัสก่อให้เกิดโรคที่มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะแยกไม่ออกจากโรคติดเชื้อชนิดอื่น ในรายที่รุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะตับวายและไตวาย อัตราตายจากโรคโดยรวมของผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นน้อยกว่าร้อยละ 5 อาการที่เป็นลักษณะชัดเจนจะมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป อ่อนเปลี้ยหมดเรี่ยวหมดแรง คลื่นไส้ และอาเจียน ชีพจรจะช้า และอ่อนไม่เป็นสัดส่วนกับอุณหภูมิที่ขึ้นสูง ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองปานกลางในระยะแรก และมากขึ้นในระยะต่อมา ไข่ขาวในปัสสาวะ หรืออาการไม่มีน้ำปัสสาวะอาจจะเกิดขึ้นได้ เม็ดเลือดขาวขึ้นสูงตั้งแต่ระยะแรก และมากขึ้นอีกในวันที่ 5 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นในระยะนี้ โรคอาจจะสงบอยู่หลายชั่วโมงหรือเป็นวัน หลายรายลุกลามเป็นระยะต่อไปโดยมีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกที่เหงือก อุจจาระ ตับ และไตล้มเหลว

          ผู้ป่วยดีซ่านร้อยละ 20-50 มักจะเสียชีวิตในที่สุดโรคไข้เหลืองตามธรรมชาติอาจเกิดเป็นวงจรในป่าซึ่งประกอบด้วยยุงกับลิง และวงจรในเมืองซึ่งประกอบด้วยยุงกับมนุษย์ การแพร่โรคของวงจรในป่าจะจำกัดอยู่เฉพาะเขตร้อนแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ มีรายงานผู้ป่วย 200 – 300 รายต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายที่มีอาชีพทำงานอยู่ในป่าหรือบริเวณชายป่าในโบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู ส่วนโรคไข้เหลืองในเขตเมืองมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในหลายเมืองของทวีปอเมริกาทวีปแอฟริกา

1.ในทวีปแอฟริกาบริเวณที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นอยู่ระหว่างเส้นรุ้ง 15 องศาเหนือ กับ 10 องศาใต้ โดกินพื้นที่ตั้งแต่ทะเลทรายซาฮาราลงไปจนถึงตอนเหนือของประเทศแองโกลา ซาอีร์ และแทนซาเนีย
2.ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าโรคไข้เหลืองเกิดขึ้นในแถบฝั่งทะเลตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกา แม้จะมีรายงานโรคไข้เหลืองในป่าจากเคนยาตะวันตกระหว่างปี พ.ศ. 2535 – 2536 ก็ตาม
3.การสำรวจในแถบแอฟริกาตะวันตกในช่วงเวลาที่ไม่พบการระบาดของโรคไข้เหลือง พบอัตราการเกิดโรค 1.1-2.4 รายต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการเสียชีวิต 0.2-0.5 รายต่อประชากร 1,000 คน
4.ในแถบแอฟริการตะวันตก พบโรคไข้เหลืองมากในช่วงปลายของฤดูฝน ราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม

ทวีปอเมริกาใต้

1.ในทวีปอเมริกาใต้ไม่มีรายงานโรคไข้เหลืองระบาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ก่อนหน้านั้นก็พบว่าโรคไข้เหลืองในอเมริกาใต้น้อยกว่าในแอฟริกามาก สาเหตุประการหนึ่งเนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะของโรคมักก่อให้เกิดการติดเชื้อในลิงที่อาศัยอยู่ในป่า
2.ปัจจุบันพบว่าเมืองใหญ่ๆในทวีปอเมริกาใต้ เริ่มมียุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เหลืองในอนาคตเพิ่มมากขึ้น
3.ในทวีปอเมริกาใต้มักพบโรคไข้เหลืองในช่วงฤดูฝน ราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม

สาเหตุ

1.เชื้อก่อโรคเป็นไวรัสเชื้อโรคไข้เหลือง อยู่ใน genus Flavirius และ family Flaviviridae
2.ระยะฟักตัวของโรค 3 – 6 วัน ในช่วงระยะฟักตัว ผู้ติดเชื้อจะยังไม่มีอาการแต่อย่างใด
3.เลือดของผู้ป่วยก่อนมีไข้เล็กน้อย และใน 3 – 5 วันแรกที่ป่วย จะมีเชื้อไวรัสส่งต่อไปให้ยุงที่มากัดได้ โรคจะติดต่อได้อย่างง่ายดายถ้ามีผู้ป่วยที่ไวต่อการติดเชื้อกับพาหะนำโรคอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก โรคไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือจับต้องสิ่งของ ยุงลายที่ดูดเลือดเข้าไปแล้วไวรัสจะใช้เวลาฟักตัว 9 – 12 วัน ในอุณหภูมิของเขตอากาศร้อนกว่าจะติดเชื้อ และเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะอยู่ในตัวยุงตลอดชีวิตของยุงนั้น
4.ผู้ป่วยที่รักษาหายจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่เคยพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคไข้เหลืองซ้ำสองครั้ง การติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีโรคไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่น ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีภูมิคุ้มกันจะมีภูมิคุ้มกันชั่วคราวนาน 6 เดือน ส่วนการติดเชื้อตามธรรมชาติแอนติบอดีจะปรากฏในเลือดภายในสัปดาห์แรกอาการ ระยะฟักตัวของโรคไข้เหลืองนาน 3-6 วัน ในช่วงระยะฟักตัวผู้ติดเชื้อจะยังไม่มีอาการแต่อย่างใด เมื่อเริ่มมีอาการปรากฏออกมา

อาการแสดงของโรค

พบว่าอาการของโรคนี้แบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่

          ช่วงแรก ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปวดบริเวณหลัง ปวดศีรษะรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ในขณะที่มีไข้สูงจะพบว่าชีพจรเต้นช้าลง อาการต่างๆ ในช่วงแรกนี้จะกินเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงในช่วงระยะแรกเท่านั้น เพียงร้อยละ 15 ที่จะปรากฏอาการระยะที่สอง ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่เป็นพิษต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย

          ระยะที่สอง เรียกว่า ระยะเป็นพิษ ผู้ป่วยกลับมีไข้สูงขึ้นมาอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง หรือที่เรียกว่าดีซ่าน ระยะดีซ่านจะปวดท้อง และอาเจียนอย่างมาก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเหลืองเล็กน้อยในระยะแรก และจะเหลืองมากขึ้นในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางปาก ทางจมูก อาจมีอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากตับวาย และไตวาย อาการทางไตอาจตรวจพบตั้งแต่พบโปรตีนในปัสสาวะ จนกระทั่งไม่มีปัสสาวะออกมาเลย ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะที่สองหรือระยะเป็นพิษประมาณครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต ภายใน 10-14 วัน ส่วนที่เหลืออาการต่างๆ หายไปในที่สุดการวินิจฉัย

การวินิจฉัย

1.โรคไข้เหลืองในระยะแรกค่อนข้างยาก เนื่องจากอาการต่างๆ คล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกหลายโรค เช่น โรคมาเลเรีย ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรสิส โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส
2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคไข้เหลืองนับว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคไข้เหลือง
3.การแยกเชื้อไวรัสจากเลือด ทำได้โดยการเพาะเชื้อไวรัสในลูกหนูยังไม่อดนม ยุง หรือในเซลล์เพาะเลี้ยง โดยเฉพาะเซลล์ของยุง
4.การตรวจพบแอนติเจนของไวรัสในเลือด โดยวิธี ELISA การตรวจพบแอนติเจนของไวรัสในตับโดยใช้แอนติบอดีติดฉลากเฉพาะ
5.การตรวจพบจีโนมของไวรัสในเลือดและในเนื้อเยื่อตับด้วยวิธี PCR หรือ hybridization probes
6.วิธีวินิจฉัยทางน้ำเหลืองใช้ตรวจ IgM จำเพาะใน serum ที่เจาะครั้งแรก หรือตรวจระดับแอนติบอดีใน serum ที่เจาะสองครั้งในช่วงเป็นโรคและระหว่างฟื้นไข้ การตรวจทางน้ำเหลืองอาจพบปฏิกิริยาข้ามกลุ่มของ flavivirus ตัวอื่นๆ
7.การติดเชื้อปัจจุบันจะแยกจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้โดยการทดสอบ complement fixation
8.การวินิจฉัยจะยืนยันได้จากการตรวจพบแผลต้นแบบในตับ

การรักษา

โรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ เน้นการรักษาตามอาการและประคับประคองเป็นหลัก

การป้องกัน

1.วิธีป้องกันโรคที่สำคัญที่สุด คือ การฉีดวัคซีน
2.ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลืองนี้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง 10 วัน และวัคซีนจะให้ภูมิคุ้มกันโรคได้นาน 10 ปี
3.ในประเทศที่ไม่สามารถให้วัคซีนได้ครอบคลุม จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการควบคุยุงลายที่เป็นพาหะของโรค
4.ขณะที่อยู่ในประเทศเขตติดโรค ต้องระมัดระวังอย่าให้ยุงลายกัด โดยปกติยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน ควรนำยาทากันยุงติดตัวไปด้วย

สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง

  • กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
  • กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในบริเวณกองตรวจคนเข้าเมือง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าเรือกรุงเทพฯ คลองเตย
  • ต่างจังหวัดติดต่อได้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่
  •  

วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง

1.วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองเป็นชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ภายใน 7 วันหลังฉีด และภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น
2.ปัจจุบันทั่วโลกได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองไปแล้วมากกว่า 300 ล้านครั้ง
3.ในประเทศที่เป็นเขตติดโรค จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองให้กับเด็กทุกคนเมื่ออายุ 9 ปี พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
4.ประเทศในแอฟริกา 18 ประเทศประกาศใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองเป็นนโยบานระดับชาติ
5.ผู้ที่เดินทางไปประเทศดังต่อไปนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง

  • ทวีปอเมริกาใต้ 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เฟร้นช์เกียนา ปานามา เปรู เวเนซูเอลา ซูรินาเม
  • ทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ ได้แก่ ประเทศแองโกล่า เบนิน บูร์กินาฟาโซ บุรุนดิ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก โกตดิวัวร์ เอธิโอเปีย แกมเบีย กาบอง กานา กินีบิสเซา กินี อิเควทอเรียลกินี เคนยา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ราวันดา เซาโตเมและปรินซิเป เซเนกัล เซียร์ราลิโอน โซมาเลีย ซูดาน ชาด โตโก ยูกันดา สาธารณรัฐแทนซาเนีย ซาอีร์ ไนเจอร์ และไนจีเรีย

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ปรับปรุง

Scroll to Top