โรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคที่สะสมรอบๆ ตัวฟัน พบว่าเกือบทุกคนจะเป็นโรคเหงือกอักเสบ อาจมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป โดยปกติเหงือกจะทำหน้าที่ห่อหุ้ม และป้องกันอันตรายให้แก่กระดูกและฟัน โดยมีเอ็นยึดกับรากฟันเอาไว้ ขอบเหงือกที่บริเวณคอฟันจะมีลักษณะบาง ผิวเรียบ ไม่ยึดกับตัวฟัน ทำให้เกิดเป็นร่องเหงือกลึกประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ส่วนของเหงือกที่อยู่ต่ำลงมาจะยึดกับกระดูกเบ้าฟัน ส่วนของเหงือกยึดนี้มีความแข็งแรงกว่าเหงือกที่อยู่บริเวณขอบเหงือกและถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีลักษณะขรุขระเล็กน้อย ไม่เรียบเหมือนขอบเหงือก 

          ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของฟันขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของตัวฟันและอวัยวะที่อยู่รอบๆ ซึ่งทำหน้าที่ยึดฟันและพยุงฟันให้คงอยู่ในขากรรไกร อวัยวะที่อยู่รอบๆ ตัวฟัน มีชื่อเรียกรวมกันว่าอวัยวะปริทันต์ ซึ่งประกอบด้วย เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน imageถ้าสังเกตดูที่เหงือกของเราจะเห็นว่ามีสีชมพูและซีดแต่ถ้าเกิดโรคมีการอักเสบหรือมีการติดเชื้อจะมีสีแดง เรียบเป็นมันหรือเป็นสีม่วง คล้ำ ช้ำ เมื่อเหงือกมีการอักเสบและติดเชื้อจะมีหนองเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือก ถ้าลองกดดูจะเห็นว่ามีหนองไหลออกมา อย่างไรก็ตามในบางคนอาจจะมีเหงือกสีคล้ำได้เช่นคนผิวดำ คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำนานๆ หรืออาจจะพบได้ในคนที่ทำงานสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำนานๆ

สาเหตุ

1.เชื้อแบคทีเรีย โดยปกติในช่องปากของคนเราจะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 200-300 ชนิด เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอักเสบมักเป็นชนิดผสม ประกอบด้วยเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus mutans) เชื้อแบคทีเรียชนิด Treponema denticola และPorphyromonas gingivalis โดยที่ในน้ำลายของเรามีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่ เมื่อมีการสะสมเป็นเวลานานเข้าก็จะกลายเป็นหินปูนในปาก ถ้าทำความสะอาดฟันและช่องปากไม่ดีพอแบคทีเรียในแผ่นคราบฟันจะไปยึดติดกับหินปูนเหล่านี้ และไปเกาะตามบริเวณขอบเหงือก ปล่อยสารพิษออกมาทำให้เหงือกอักเสบ
2.คราบหินปูน หินปูนหรือบางทีเรียกว่าหินน้ำลาย เกิดจากการที่แร่ธาตุในน้ำลายเข้าไปรวมตัวในคราบจุลินทรีย์จนเกิดเป็นคราบแข็ง และยึดเกาะติดกับเคลือบฟันแน่นยิ่งขึ้น หินปูนไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน คราบหินปูนที่เกาะติดเคลือบฟันนั้น มีทั้งส่วนที่อยู่เหนือเหงือกและใต้ขอบเหงือก ส่งผลให้คราบจุลินทรีย์เพิ่มปริมาณการยึดเกาะกับเหงือกมากขึ้น ในระยะแรกเริ่มหินปูนจะมีสภาพนิ่มและต่อมาจะค่อยๆแข็งตัวขึ้น ความแข็งของหินปูนจะทิ่มตำเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ บวมและแดง
3.บุหรี่ จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 46 เท่า และพบว่าสารทาร์ในบุหรี่เป็นตัวเร่งการเกิดคราบหินปูนในผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดรุนแรงมากถึงร้อยละ 60
4.ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม การศึกษาในระยะหลังพบว่ายีนinterleukin-1 genotype เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเหงือกอักเสบที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่สูบบุหรี่
5.โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรงและโรคปริทันต์มากกว่าคนทั่วไป และจะส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน
6.ยาบางชนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาระงับชัก และยาโรคหัวใจ
7.อนามัยช่องปาก การแปรงฟันไม่สะอาด หรือการที่ไม่ได้รับการขูดหินปูนนานๆ ครั้ง ตัวฟันจะถูกแผ่นคราบฟันเหนียวๆ หรือหินปูนเกาะติดอยู่ ในแผ่นคราบฟันนี้จะมีอาหาร แบคทีเรียและสารพิษที่หลั่งจากแบคทีเรียผสมกันอยู่ ถ้าสิ่งเหล่านี้ยึดติดกับฟันเป็นเวลานานพอสมควร เหงือกก็มีอาการระคายเคือง

อาการโรคเหงือกอักเสบ

          อาการโรคเหงือกอักเสบในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการใดๆ เมื่อเป็นมากขึ้นอาการที่เริ่มแสดงออก คือเวลาแปรงฟันจะมีเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการที่จะพบต่อมา คือ การมีกลิ่นปาก เหงือกจะมีสีแดงคล้ำ ปวดและเจ็บบริเวณเหงือก เหงือกจะเริ่มแยกตัวออกจากฟัน คนไข้จะรู้สึกว่าฟันของตนเองยาวขึ้น ฟันเริ่มโยกเพราะมีการละลายของกระดูกที่รองรับฟัน และเหงือกเป็นหนองเหงือกที่อักเสบจะมีลักษณะบวม แดง เป็นมัน ดูฉุๆ หากถูกขนแปรงตอน แปรงฟัน หรือลองใช้ไม้จิ้มฟันสอดเข้าไปในร่องเหงือก บริเวณดังกล่าวจะมีเลือดซึมออกมาได้ บริเวณ ที่เห็นได้ง่ายคือ บริเวณซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มักพบโรคก่อน และโดยที่มีเหงือกอักเสบ จึงมักจะเป็น บริเวณที่ถูกละเลยในการทำความสะอาด ซึ่งนานๆ เข้าจะเกิดหินปูน หรือหินน้ำลายร่วมด้วย มองเห็นเป็นแถบสีขาว ออกเหลือง แข็ง แปรงไม่ออก และหินปูนก็จะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคด้วย จึงพบการอักเสบของเหงือกรุนแรงมากขึ้นได้ 

การมีเลือดออกจากเหงือกภายหลังการแปรงฟัน 

          ทั้งที่แปรงสีฟันไม่ได้กระแทกเหงือกให้เกิดบาดแผลเลยนั้นน่าจะเป็นผลมาจากการเป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของเหงือกต่อสารระคายเคืองจากคราบจุลินทรีย์ ผิวของเหงือกมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงหรือมีเลือดคั่งอยู่ที่ผิดของเหงือกมากขึ้น ทำให้เหงือกบวมแดง เนื้อเยื่อที่ปกคลุมผิวเหงือกจึงบางขึ้นและฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้นเมื่อได้รับการเสียดสีเพียงเล็กน้อยเช่นการแปรงฟันก็จะมีเลือดออก การวินิจฉัย โรคเหงือกอักเสบจะมีความผิดปกติเฉพาะบริเวณของเหงือกเท่านั้น

          ส่วนโรคปริทันต์นั้นเมื่อเป็นจะมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ที่อยู่รอบๆ ฟัน ได้แก่ เหงือก เยื่อยึดปริทันต์ กระดูกเบ้าฟัน และเคลือบรากฟัน ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยยึดให้ฟันอยู่ได้แน่นโดยไม่โยก ส่วนโรครำมะนาด หมายถึง โรคปริทันต์ในระยะลุกลามไปมากแล้วโดยมีอาการให้เห็นได้อย่างชัดเจน เหงือกบวมหรือมีหนองออกมาจากร่องของเหงือก ฟันมักจะโยก บางครั้งมีอาการปวด มักจะเป็นกับฟันทีละหลายๆ ซี่ในช่องปาก imageการจะทราบว่าเราเป็นโรคเหงือกและโรคปริทันต์หรือไม่

          ให้หมั่นสังเกตและตรวจดูสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอด้วยตนเองตั้งแต่ยังไม่เป็นโรค เพื่อจะได้ทราบว่าในสภาวะปกติเหงือกและฟันของตนเองมีลักษณะเช่นไร วิธีง่ายๆ คือการอ้าปากส่องดูกับกระจกเงาหลังจากการแปรงฟันทุกวัน เมื่อเป็นโรคเหงือกและโรคปริทันต์ เราจะพบความผิดปกติที่เหงือกเป็นอันดับแรก เหงือกจะบวม มีเลือดออกง่าย สีเหงือกมักมีสีคล้ำไปจากเดิม เมื่อเป็นมากอาจมีหนองไหลออกข้างๆ ฟัน ตัวฟันแลดูยาวขึ้นเนื่องจากมีเหงือกร่น จะมีอาการปวดและฟันโยก ซึ่งหากพบรอยโรคในระ
ยะแรกๆ สามารถรักษาเพื่อเก็บฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป

การรักษา

1.อาการเหงือกบวมมีเลือดออก และบางครั้งมีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก เป็นอาการของโรคปริทันต์ในระยะที่ลุกลามมากแล้ว เมื่อตรวจดูจะพบว่า ร่องเหงือกมีความลึกมากขึ้น ซึ่งเรียกว่าร่องลึกปริทันต์ หรือบางทีก็เห็นตัวฟันยากเพิ่มขึ้นด้วย
2.การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ขึ้นกับอวัยวะปริทันต์ที่อยู่รอบๆ ฟันที่ทำหน้าที่ช่วยยึดฟันให้แน่นว่าถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน หากอวัยวะปริทันต์มีเหลือพอที่จะช่วยยึดฟัน อาจพิจารณารักษาโดยการทำความสะอาดร่องลึกปริทันต์ บางรายอาจทำการผ่าตัดเหงือกเพื่อลดความลึกของร่องลึกปริทันต์
3.สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ได้ผล ตัวผู้ป่วยเองจะต้องรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ การเป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์นี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองโดยการแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การดูความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เหงือกกลับคืนสภาพปกติได้
4.ถ้าตรวจพบว่าอวัยวะปริทันต์ถูกทำลายไปมากแล้ว การรักษาคงต้องถอนฟันซี่นั้นออก โรคปริทันต์เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะปริทันต์อย่างถาวร คือ เหงือก เยื่อยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน กระดูกขากรรไกร จะถูกทำลายไปโดยไม่สามารถรักษาให้คืนสภาพปกติได้ ร่องเหงือกจากปกติที่ลึกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จะลึกมากขึ้นเกิดเป็นร่องลึกปริทันต์เป็นที่อยู่ของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวการของการเกิดโรค อาการของโรคจะรุนแรงเป็นระยะๆ ผู้ที่เป็นโรคต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเหงือกบวม ปวด ฟันโยก หรือมีหนองไหลออกจากร่องลึกปริทันต์ การเป็นโรคมักจะเป็นกับฟันหลายๆ ซี่ จึงส่งผลให้มีการสูญเสียฟันเป็นจำนวนมากในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
5.การขูดหินปูน ทั้งนี้จะขูดหินปูนบ่อยแค่ไหนในแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับการมีหินปูนเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็ว ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกัน บางคนมีหินปูนเกาะมากและเกิดได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางคนมีหินปูนเกิดได้น้อยหรือแทบจะไม่เกิดเลย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีความแตกต่างในเรื่องส่วนประกอบของน้ำลาย ชนิดของคราบจุลินทรีย์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร อันเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดหินปูน นอกจากนี้ยังขึ้นกับพฤติกรรมการดูแลความสะอาดในช่องปากของแต่ละบุคคลด้วย
6.การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ต้องดูแลความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การแปรงฟันนับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ ควรแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เวลาเช้า และก่อนเข้านอน ด้วยเหตุผลที่ว่าคราบจุลินทรีย์จะก่อตัวขึ้นใหม่หลังการแปรงฟันภายในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งในแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป นอกจากการแปรงฟันแล้ว ควรใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดบริเวณซอกฟันในส่วนที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง ก็จะช่วยให้กำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นต้นเหตุการเกิดโรคได้ดียิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top