โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ เป็น โรคข้ออักเสบที่รู้จักกันมานาน ถือได้ว่าเป็นโรคที่เก่าแก่ที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์ และก็ยังพบว่าเป็นปัญหาโรคข้อที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเก๊าท์ที่สูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรฐานความเป็นอยู่ อาหาร สภาวะทางโภชนาการที่ดีขึ้นในยุคปัจจุบัน

          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์จะเป็นผู้ชายที่มีอายุเกิน 40 ปี แต่ก็อาจเกิดขึ้นในวัยใดก็ได้ และสำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเก๊าท์ มักจะปรากฏอาการหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว โรคเก๊าท์พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของ บรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหมด ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยโรคเก๊าท์ประมาณ 2.4 ล้านคน ทั่วโลกเฉลี่ยพบผู้ป่วยโรคเก๊าท์ 300 รายต่อประชากร 100,000 คน 

          ลักษณะของโรคเก๊าท์จะเป็นการอักเสบของข้อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันทันทีทันใด อาการเป็นอยู่ประมาณ 5-10 วัน แล้วก็หายไป ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรัง เกิดการอักเสบของข้อเป็นๆ หายๆ และโรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุของโรค

  1. โรคเก๊าท์เกิดจากการที่ระดับของกรดยูริกสูงในเลือด ซึ่ง เป็นผลมาจากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วกรดยูริคจะตกผลึกเมื่อระดับของกรดยูริคในเลือดมากเกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การที่ร่างกายมีกรดยูริคสะสมมากกว่าปกติ เป็นระยะเวลานาน ก็จะไปตกตะกอนอยู่บริเวณรอบๆ ข้อ หรือภายในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
  2. กรดยูริคเกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีน ซึ่ง พบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, เซี่ยงจี้ เป็นต้น ร่างกายจะย่อยพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริค และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริคจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการ สร้างขึ้นพอดี ในคนที่เป็นโรคเก๊าท์ พบว่าเกิดความผิดปกติของกระบวนการใช้และขับถ่ายสารพิวรีน
  3. พบว่าร้อยละ 18 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ จะ มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์เช่นกัน และโรคพันธุกรรมที่พบน้อยบางชนิด ทำให้ร่างกายสร้างกรดยูริคออกมาในปริมาณที่มากเกิน
  4. โรคเก๊าท์มักเป็นกับผู้ชายวัยสูงอายุ เนื่อง จากภาวะกรดยูริคในเลือดที่สูงนั้น จะยังไม่เกิดการตกตะกอนและเกิดข้ออักเสบทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่กรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายสิบปี พบว่าในผู้ชายที่มีกรดยูริคสูงนั้น ระดับของยูริคในเลือดจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสูงไปนานจนกว่าจะเริ่มมีอาการคืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงระดับยูริคจะเริ่มสูงขึ้นหลังจากวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจนจะมีผลทำให้กรดยูริคในเลือดไม่สูง
  5. ผู้ป่วยโรคต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเก๊าท์มากขึ้น ได้แก่ โรคอ้วน, โรคเบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ,ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว, โรคไตวายเรื้อรัง และโรคเลือดชนิด sickle cell anemia, myeloproliferative disease
  6. การดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จะ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเก๊าท์ เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย อีกทั้งแอลกอฮอล์ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสร้างกรดยูริก โดยการเร่งกระบวนการการสลายตัวของสารอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตในเซลล์ การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มเบียร์ซึ่งจะทำให้เกิดอาการข้ออักเสบได้ทันที เพราะเบียร์มีสารกวาโนซีนซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นกรดยูริกในร่างกายได้มาก
  7. ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเก๊าท์ ได้แก่ แอสไพริน aspirin, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide, ยารักษาโรคพาร์กินสัน levodopa, ยากดภูมิคุ้มกัน cyclosporine

อาการของโรค

  1. อาการของโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเอง โดย ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการกระทบกระแทกรุนแรงใดๆ อยู่ๆ ก็เกิดบวมแดง และร้อนบริเวณรอบๆ ข้อ อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการครั้งแรกมักเกิดตอนกลางคืน ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก จนบางครั้งถึงกับเดินไม่ได้
  2. อาการปวดเกิดขึ้นแม้ว่าจะอยู่เฉยๆ แตกต่างจากอาการปวดข้อจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งถ้าอยู่เฉยๆ อาการปวดจะไม่ค่อยมี
  3. ข้อที่เป็นโรคเก๊าท์มักจะเป็นข้อเดียว โดย โรคเก๊าท์มักเกิดขึ้นกับข้อทีละข้อ ไม่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลายข้อ และการอักเสบจะไม่กระจายไปยังข้ออื่นๆ แต่ในกรณีที่เป็นโรคเก๊าท์เรื้อรัง พบว่าการอักเสบอาจเป็นทีละสอง-สามข้อได้
  4. ข้อที่พบว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ส่วนข้ออื่นๆ ที่พบ ได้แก่ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อต่อของกระดูกเท้า ข้อต่อของกระดูกมือ ข้อมือ และข้อศอก
  5. ข้อที่พบว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้น้อย ได้แก่ ข้อไหล่ ข้อสะโพก และข้อสันหลัง
  6. ผิวหนังบริเวณรอบข้อที่อักเสบจะมีสีแดง ร้อน และบวมเป่ง
  7. ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
  8. ถ้าไม่ได้รับการเยียวยา อาการเจ็บปวด ระยะ เริ่มแรกอาจหายไปภายในสองสามชั่วโมงหรืออยู่นานเป็นสัปดาห์ อาการข้ออักเสบอาจไม่เกิดขึ้นอีกแต่ทิ้งช่วงเป็นเวลานานถึงปีได้ เมื่อคนไข้มีอายุสูงขึ้น อาการเหล่านี้จะเกิดถี่กระชั้นบ่อยกว่าเดิมและอาการเจ็บปวดทรมานคงอยู่ นานกว่าจะบรรเทาลง

การวินิจฉัยโรค

  1. จากการซักถามประวัติอาการโดยละเอียด และตรวจร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่มีการอักเสบเกิดขึ้น
  2. ตรวจระดับของกรดยูริคในเลือด คน ที่เป็นโรคนี้มักจะมีระดับกรดยูริกในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่เสมอไปทุกคน และหลายคนที่มีระดับกรดยูริกสูงในกระแสเลือด แต่กลับไม่มีอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์
  3. ตรวจสารน้ำในข้อ พบผลึกของกรดยูริค (monosodium urate monohydrate crystal) หรือที่นิยมเรียกย่อๆ ว่า MSU ลักษณะของผลึกเป็นรูปเข็มเล่มบางๆ พบอยู่ภายในเซลล์ และมองเห็นเป็น strongly negatively birefringent
  4. ในวินิจฉัยโรคเก๊าท์ ต้องแยกโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อออกไปก่อนเสมอ วิธีที่ดีที่สุดคือ การเจาะข้อและตรวจสารน้ำในข้อ
  5. โรคเก๊าท์เทียม (pseudogout) เกิดจากผลึก calcium pyrophosphate dihydrate ลักษณะอาการของโรคบางประการคล้ายกับโรคเก๊าท์

แนวทางในการรักษาโรค การรักษาโรคเก๊าท์ในปัจจุบัน อาศัยหลักสำคัญ 3 ประการ

  1. รักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลันให้หายเร็วที่สุด โดย เน้นที่เริ่มให้ยาทันที เลือกใช้ยาลดการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ ในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม และระมัดระวังผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้นพึงระลึกไว้เสมอว่าการรักษา อาการข้ออักเสบจนหาย ไม่ได้หมายความว่ารักษาโรคเก๊าท์หายแล้ว ผลึกของกรดยูริคยังคงอยู่ภายในข้อ และอาจก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้
  2. ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของข้อจากผลึกของกรดยูริค โดยการใช้ยาลดการอักเสบขนาดต่ำต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
  3. รักษาภาวะกรดยูริคสูงในเลือด และป้องกันไม่ให้โรครุนแรงมากขึ้น โดยแก้ไขปัญหาทางเมตาบอลิกไปพร้อมๆ กัน

การรักษาในระยะเฉียบพลัน

  1. จุดประสงค์เพื่อรักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลันให้หายเร็วที่สุด โดย เน้นที่เริ่มให้ยาทันที เลือกใช้ยาลดการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ ในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม และระมัดระวังผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น
  2. ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น อินโดเมธาซิน (indomethacin) อินโดเมธาซิน (indomethacin) รับประทานในขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 2-3 วัน จากนั้นลดขนาดลงเป็น 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4-10 วัน
  3. ยาโคลชิซิน (colchicine) เป็น ยาที่ใช้รักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเก๊าท์มาเป็นเวลานาน ได้ผลดีเมื่อให้ยาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของอาการ โดยใช้ยาในขนาด รับประทานวันละไม่เกิน 3 เม็ด เช่น 1 เม็ดหลังอาหาร 3 มื้อ จะทำให้ผู้ป่วยหายจากข้ออักเสบในเวลา 1-2 วัน ที่สำคัญคือ ต้องระวังผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย บางครั้งอาจมีผู้แนะนำให้กินยาโคลชิซิน 1 เม็ด ทุกชั่วโมง จนกว่าจะหายปวด หรือจนกว่าจะท้องเสีย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่กินยาด้วยวิธีนี้ มักจะท้องเสียก่อนหายปวดเสมอ
  4. การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) พบ ว่ามีประสิทธิภาพดี ทั้งรูปยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้นเลือด ยาฉีดเข้ากล้าม และยาฉีดเข้าข้อ เพรดนิโซโลน (prednisolone) รับประทานในขนาด 30 มิลลิกรัม ทุกวัน ค่อยๆลดขนาดลงจนสามารถหยุดยาได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เมธิลเพรดนิโซโลน (methylprednisolone) ขนาด 40 มิลลิกรัม ใช้ฉีดเข้าเส้นเลือด ไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone) ขนาด 40 มิลลิกรัม ใช้ฉีดเข้ากล้าม
  5. การพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่ม น้ำมากๆ พักการใช้ข้อ ยกส่วนที่ปวดบวมให้สูง และประคบด้วยความเย็น พบว่าช่วยให้อาการอักเสบหายเร็วขึ้นกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาขับปัสสาวะ อาหารที่มีพิวรีนสูง แอลกอฮอล์ และไม่ให้ยาลดกรดยูริคขณะที่มีอาการข้ออักเสบ

การรักษาภาวะกรดยูริคสูงในเลือด

  1. การรักษาระยะยาว โดย ใช้ยาลดกรดยูริคในเลือด โดยถือหลักการว่า ถ้าเราลดระดับยูริคในเลือดได้ ต่ำกว่า 7 มก./ดล. จะทำให้ยูริคที่สะสมอยู่ละลายออกมา และขับถ่ายออกจนหมดได้ ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาลดกรดยูริคในเลือด ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการ >3 ครั้งต่อปี, ผู้ที่มีก้อนโทฟัส และผู้ที่มีนิ่วกรดยูริค
  2. ยาที่นิยมใช้ได้แก่ ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) ขนาด 100-300 มก. กินวันละครั้ง ยานี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง กินยาสม่ำเสมอ และกินไปนานอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อกำจัดกรดยูริคให้หมดไปจากร่างกาย การกิน ๆ หยุด ๆ จะทำให้แพ้ยาได้ง่าย ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังชนิดรุนแรง
  3. ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้เช่นกัน คือ โปรเบเนซิด probenecid ขนาด 250 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เพิ่มขนาดยาสูงสุดได้ถึง 1500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  4. ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ พบ ว่าการขับกรดยูริคออกทางไตลดน้อยลง ยาที่เพิ่มการขับกรดยูริค เช่น โปรเบเนซิด (probenecid) และ ซัลฟินพัยราโซน (sulfinpyrazone) จึงได้รับความนิยมที่จะใช้เป็นยาตัวแรกมากกว่า ในกรณีที่การทำหน้าที่ของไตเริ่มบกพร่อง การใช้ยาเบนซโบรมาโรน (benzbromarone) จะได้ผลดีกว่า

นอกจากการใช้ยาลดระดับกรดยูริกในเลือดแล้ว ยังควรปฎิบัติตัวตามนี้

  1. หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดกรดยูริกสูงในกระแสเลือด เช่น ภาวะอ้วน มีไขมันสูงในกระแสเลือด โดยเฉพาะพวกไทรกลีเซอรัยต์ การรับประทานอาหารพวกเครื่องในสัตว์
  2. พยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และทานยาตามที่แพทย์สั่ง ข้อสำคัญควรไปหาแพทย์เพื่อรับตรวจรักษาอยู่สม่ำเสมอ
  3. ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตบางประการ โดย เริ่มแรกต้องลดน้ำหนัก ลดระดับไขมันในเลือด งดอาหารพวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ เครื่องใน เช่นตับ งดอาหารทะเล ถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเพิ่มปริมาณการสร้างกรดยูริกและลดการขับถ่าย กรดยูริกออกจากร่างกาย
  4. ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะ ภาวะร่างกายขาดน้ำย่อมทำให้เกิดอาการข้ออักเสบได้ พยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน ที่เป็นอันตรายต่อข้อโดยเฉพาะเรื่องการใส่รองเท้าคับเกินไป

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top