มีงานวิจัยล่าสุดพบว่าคุณภาพของอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้น มีส่วนสำคัญต่อการชะลอความเสื่อมของสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวทางหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง
การศึกษาดังกล่าวนั้น เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่ทำใน 40 กว่าประเทศกระจายไปในทุกทวีปกว่า 700 ศูนย์วิจัย โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยกว่าสามหมื่นคน ผู้เข้าร่วมการศึกษาดังกล่าวนั้น มีอายุมากกว่า 55 ปี และมีประวัติโรคประจำตัวทางด้านหลอดเลือดของหัวใจหรือสมอง อย่างน้อยหนึ่งโรค เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และรวมถึงผู้ป่วยด้วยเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยที่มีประวัติร่วมของโรคเหล่านี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสื่อมของสมองเมื่ออายุมากขึ้น
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต ต่อผู้ที่ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองอยู่แล้ว ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นไปที่อาหารของชาติใดชาติหนึ่ง ดังเช่นงานวิจัยอื่นๆที่เคยผ่านตากันมา เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนี่ยน หรืออาหารเอเชีย ที่มักมีการอ้างถึงจากงานวิจัยว่าเป็นอาหารสุขภาพ แต่เนื่องจากผู้ป่วยโรคเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลก ในทางปฏิบัติจึงไม่สะดวกนัก หากจะเลือกรับประทานเมนูสุขภาพที่ไม่ใช่อาหารท้องถิ่นของตนเอง
งานวิจัยนี้จึงเก็บข้อมูลในลักษณะของ คุณภาพของอาหารมากกว่า โดยคำนึงถึงส่วนประกอบของอาหาร มากกว่าคำนึงถึงเมนูอาหาร โดยผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถาม เพื่อเก็บข้อมูลการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ได้แก่
- ชนิดของโปรตีนที่เลือกรับประทาน เช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว สัดส่วนของเนื้อปลาต่อเนื้อแดง
- สัดส่วนของผัก ผลไม้ ในแต่ละวัน
- การรับประทานพวกธัญพืช
- การรับประทานของทอด
- ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
โดยนำข้อมูลมานับเป็นคะแนน หลังจากนั้นทำการทดสอบการทำงานของสมองด้วยแบบประเมินมาตรฐาน MMSE(Mini-Mental State Examination) โดยทำหนึ่งครั้งก่อนเข้าร่วมการทดลอง และอย่างน้อยอีกหนึ่งครั้งตลอดระยะเวลาที่อยู่ในการศึกษา
ภายหลังการติดตามการศึกษาไป 5 ปี พบว่า กว่า 16.8 % หรือ 1 ใน 6 ของผู้ร่วมวิจัยมีการเสื่อมลงของสมอง และพบว่าผู้ที่มีโภชนาการที่ดีนั้น สามารถลดความเสี่ยงของความเสื่อมของสมองลงได้กว่า 1 ใน 3
ทีมผู้วิจัยอธิบายว่า ผลของอาหารต่อการชะลอความเสื่อมของสมองนั้น น่าจะเป็นจากอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ลดการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดการอักเสบของหลอดเลือด และปรับสมดุลกระบวนการเผาผลาญ เมื่อระบบหลอดเลือดและหัวใจทำงานดีขึ้น การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองย่อมดีขึ้น โดยพบว่าในผู้ที่มีการชะลอลงของความเสื่อมของสมองนั้น มีคะแนนการทำแบบทดสอบ MMSE ดีกว่าอีกกลุ่ม ในเรื่องหัวข้อการจดจำประมวลผลและทำซ้ำโดยโจทย์ให้จดจำรูปร่างเรขาคณิตแล้ววาดซ้ำให้เหมือนต้นฉบับ
ผู้วิจัยสรุปว่า ผู้ที่มีปัญหาของหลอดเลือดนั้นในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทำให้เกิดความเสื่อมของการทำงานได้
ปัจจุบันนั้น โรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสมองนั้นมีหลายโรคด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น อัลไซเมอร์ ดังนั้น การรักษาจึงเป็นเพียงการชะลอเวลาไม่ให้ตัวโรคทรุดเร็ว ดังนั้นการพบสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวทางหลอดเลือด การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารจะมีส่วนช่วยสำคัญในการป้องกันโรคดังกล่าวไม่ให้ไปสร้างความเสียหายต่อสมองในภายหลังโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเมนูการกินให้แต่งต่างจากเดิมมากนัก
งานวิจัยต้นฉบับ : http://www.neurology.org/content/early/2015/05/06/WNL.0000000000001638.abstract
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์