เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Faciitis)

ภาวะปวดส้นเท้าในคนทั่วๆ ไป และในผู้ที่เล่นกีฬา (รวมทั้งนักกีฬาทั้งสมัครเล่นและนักกีฬาอาชีพ) เกิดขึ้นได้บ่อยๆ จนต้องมาพบแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือแพทย์เกี่ยวกับโรคกระดูก กล้ามเนื้อและข้อต่อ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำ ซึ่งภาวะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรัง ใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน บางคนใจร้อนอยากให้แพทย์รักษาให้หายอย่างทันทีทันใด ด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปยังจุดที่ปวดซึ่งจะมีข้อดีและข้อเสียอย่างใด ผมจะขอกล่าวโดยละเอียดให้เข้าใจต่อไป

เอ็นฝ่าเท้าของมนุษย์เรา

          มนุษย์เป็นสัตว์ 2 เท้า (ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่มี 4 เท้า) ไว้สำหรับการเดินและการรับน้ำหนัก ดังนั้นขอให้ทุกท่านได้โปรดเห็นใจเท้าน้อยๆ 2 ข้างของท่านเวลาท่านมีน้ำหนักตัวมากขึ้น เท้าของท่านก็จะต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย ถ้าเราผ่าตัดเอาผิวหนังและไขมันใต้ผิวหนังออก (ภาพที่ 1) จะเห็นมีเอ็นฝ่าเท้าแผ่จากโคนนิ้วเท้าไปตลอด จนกระทั่งไปถึงกระดูกส้นเท้าเป็นลำหนาตามรูป และเมื่อผ่าเอาเอ็นฝ่าเท้าเหล่านี้ออกไป ก็จะเห็นกล้ามเนื้อเล็กๆ หลายๆ มัดอยู่ภายใต้ (ภาพที่ 2) ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเดิน การเคลื่อนไหวข้อเท้าและเท้า เอ็นฝ่าเท้าเหล่านี้ก็จะต้องทำงานและรับแรง ยิ่งถ้าหากเราวิ่ง กระโดดโลดเต้น กระโดดลงมาจากที่สูง แรงที่มากระทำก็จะมากตามไปด้วย

การอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า

          เอ็นฝ่าเท่าก็เหมือนเอ็น (Tendon) ส่วนอื่นๆ ที่อาจมีการอักเสบขึ้นได้จากการใช้งาน หลายท่านอาจเคยชินกับการอักเสบของเอ็นที่หัวไหล่ เอ็นที่ข้อมือ เอ็นที่ข้อศอก (Tennis Elbow / Golf Elbow) เอ็นร้อยหวาย ส่วนที่เกิดการอักเสบในส่วนของเอ็นฝ่าเท้าคือ บริเวณวงกลม ในภาพที่ 2 ซึ่งเป็นจุดที่เอ็นฝ่าเท้าไปเกาะที่กระดูกส้นเท้าตรงตำแหน่งที่เรียกว่า Medial Calcaneal Tuberosity ซึ่งจะอยู่บริเวณส้นเท้าที่ค่อนมาทางด้านใน ไม่ได้อยู่ตรงกลางส้นเท้าที่เดียว ในทางการแพทย์เราพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการใช้งานมาก Chronic Degeneration ในเนื้อเอ็นฝ่าเท้าที่มีการอักเสบตรงตำแหน่งที่เกาะกระดูกส้นเท้า รวมทั้งตัวกระดูกส้นเท้าเองด้วย

          เราพบการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้าในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และในคนน้ำหนักตัวมาก มากกว่าในคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ส่วนใหญ่เราจะพบมีการอักเสบเพียงส้นเท้าข้างเดียว หากพบว่ามีการอักเสบทั้งสองข้าง อาจต้องคิดถึงโรคหรือภาวะอื่นๆ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยให้ต่อไป แต่บางท่านก็เกิดจากเอ็นฝ่าเท้าอักเสบธรรมดาทั้งสองข้างพร้อมกัน ก็สามารถพบได้นะครับ

อาการที่พบมีอะไรได้บ้าง

          แน่นอนว่าจะต้องมีอาการปวดบริเวณส้นเท้าค่อนมาทางด้านใน (ภาพที่ 2) ส่วนใหญ่จะปวดมากในเวลาตื่นนอนตอนเช้าหรือในขณะอยู่ท่านิ่งมานานแล้วเริ่มมีการขยับใช้งาน เหตุผลคือเมื่อเริ่มมีการขยับข้อเท้า จะมีการดึงหรือแรงไปกระทำที่บริเวณที่มีการอักเสบ การเคลื่อนไหวครั้งแรกๆ จึงมีอาการปวดมาก คนไข้บางคนพอลุกขึ้นจากเตียงนอนและจะเดินลงน้ำหนัก และจะปวดมากมาก ถึงขนาดล้มลงก็เคยมี เพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหว ก้าวเท้าต่อไม่ได้ ต้องนิ่งพักก่อน ดังนั้นท่านที่มีอาการตอนเช้ามาก อาจต้องลุกขึ้นและค่อยๆ ขยับเป็นการวอร์อัพ
ข้อเท้าและเอ็นฝ่าเท้าไปในตัว

การตรวจและวินิจฉัย

          แพทย์จะอาศัยจากประวัติการเจ็บปวด และการตรวจร่างกายที่จะมีการกดเจ็บบริเวณที่คนไข้ปวด บางรายอาจมีการตึงตัวของเอ็นร้อยหวายและบริเวณเอ็นฝ่าเท้าตรงกลางๆ ฝ่าเท้าร่วมด้วย การเอกซเรย์กระดูกส้นเท้าอาจไม่มีความจำเป็นในการวินิจฉัย ยกเว้นแต่แพทย์อาจนึกถึงภาวะผิดปกติที่อาจเกิดกับกระดูก เช่น คนไข้มีประวัติอุบัติเหตุ อาจนึกถึงกระดูกร้าว หรือกรณีมีบวมแดงขนาดใหญ่ขึ้นอาจต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงโดยการเอกซเรย์ก็ได้

การรักษา

          จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ การลดการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า ดังนั้นการรักษาจึงต้องมุ่งเน้นการลดการอักเสบ ซึ่งอาจทำได้โดยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นได้ดีขึ้น การใช้ยาลดการอักเสบเอ็นและกล้ามเนื้อชนิดรับประทานเพื่อลดการอักเสบ การใช้อุปกรณ์รองส้นเท้าแบบนิ่มๆ เพื่อเป็นที่รองรับแรงที่มากระทำ (Cushion) ไม่ให้ลงไปที่ตรงที่มีการอักเสบ ตลอดจนการทำ Stretching หรือการยืดเอ็นฝ่าเท้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และบางครั้งอาจต้องอาศัยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดความร้อนในชั้นลึกๆ การไหลเวียนของเลือดจะดีขึ้น การอักเสบก็จะหายได้ไวขึ้น

          การทำ Stretching หรือการยืดเอ็นฝ่าเท้า จะมีเทคนิคหลายแบบซึ่งท่านสามารถทำเองได้ที่บ้าน (เช่น ภาพที่ 3) สมมุติว่ามีการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้าข้างขวา ท่านยืนตามภาพ และพยายามถ่ายน้ำหนักให้กดไปลงที่ฝ่าเท้าขวาให้มาก ประมาณ 10-15 วินาทีแล้วพัก ให้ทำประมาณ 15-20 ครั้ง เป็น 1 เซ็ท ท่านสามารถทำได้วันละ 2-3 เซ็ทขึ้นไป หากระหว่างทำท่านไม่มีอาการเจ็บปวดมากขึ้นใดๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ท่านอาจเพิ่มการยืดเอ็นให้ได้ผลมากขึ้นโดยอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งในภาพที่ 3 อาจต้องถอดรองเท้าออก เอาไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีก หรือไม้ที่ทำเป็นแป้นรูปร่างสามเหลี่ยมเหมือนไม้ที่วางบนโต๊ะเป็นป้ายชื่อเอาไม้มาขวางตามยาว และให้โคนนิ้วเท้าทั้งหมดอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นกับความเอียงของไม้ไผ่ผ่าครึ่งหรือไม้สามเหลี่ยม (ภาพที่ 4) วิธีนี้จะทำให้การยืดหรือ Stretching มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          การฉีดยาสเตียรอยด์ไม่มีความจำเป็นหากไม่มีอาการเจ็บปวดมากๆ และการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น จะได้ผลมากกว่า 95% หากจำเป็นต้องฉีดยาก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีอายุมาก ภูมิต้านทางค่อนข้างต่ำ และหากมีโรคแทรกซ้อนจากการฉีดยา ท่านจะต้องยอมรับว่าการรักษาจะค่อนข้างยาก

          เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง แม้นว่าท่านจะสามารถทำหลายอย่างได้ด้วยตนเองก็ตาม การติดตามผลการรักษากับแพทย์เป็นระยะๆ มีความจำเป็นเพราะการรักษาโรคนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เวลาเฉลี่ยโดยทั่วไป อาจถึง 4-6 เดือน ดังนั้นท่านต้องมีความอดทนและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ยิ่งท่านปฏิบัติตัวเคร่งครัดมากเท่าไหร่ ระยะเวลาในการรักษาก็ลดลงเท่านั้น

          เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับท่านที่มีอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบและอ่านบทความนี้ ผมขอกระซิบให้ท่านทราบด้วยว่าผู้เขียนก็มีประสบการณ์เอ็นฝ่าเท้าอักเสบและต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือนกว่าจะหายขาด ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ

นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top