เวียนศีรษะเสียการทรงตัว

image 32

การบริหารสำหรับผู้ป่วย

          อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยอาการหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์โรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะนี้สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในความผิดปกติของเส้นประสาทการทรงตัวหรือสมอง เป็นต้นในการบำบัดรักษาโรคเหล่านี้ควรรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น

          ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการทำงานของอวัยวะการทรงตัวเส้นประสาทการทรงตัว หรือสมองที่เกี่ยวข้อง ทราบได้จากการตรวจร่างกายและจากการทดสอบการทรงตัวที่เรียกว่า Electronystagmography ซึ่งพบว่ามีการทำงานของระบบการทรงตัวบกพร่องไป คือทำงานน้อยกว่าปกติหรือในบางรายอาจไม่ทำงาน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีปัญหา คือมีอาการวิงเวียนอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวศีรษะหรือใช้สายตา ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการเวียนแบบหมุนแล้วก็ตามบางรายยังคงเสียการทรงตัว หรือมีอาการโคลงเคลง

          การบำบัดรักษาที่สำคัญ คือ การฝึกกายบริหารทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวเพื่อช่วยบำบัดรักษาอาการเวียนศีรษะที่มีอยู่หรือช่วยให้การทรงตัวดีขึ้นตามลำดับ

          สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือจะต้องเลือกสถานที่ฝึกกายบริหารให้เป็นที่กว้างพอ และปลอดภัยไม่ควรมีของเกะกะซึ่งอาจจะทำให้สะดุดล้มได้ง่าย ควรมีบุคคลอื่นอยู่ใกล้ ๆคอยช่วยเหลือโดยเฉพาะเมื่อเริ่มฝึกทำใหม่ ๆ

วิธีฝึกกายบริหาร

image 34

ให้ฝึกกายบริหารตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่แนะนำโดยในระยะแรกให้เริ่มฝึกเพียง 2-3 ครั้งต่อวันแล้วต่อไปจึงค่อยฝึกทำเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงแรกของการฝึกกายบริหารอาจรู้สึกว่ามีอาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นบ้าง ไม่ควรวิตกกังวล และควรอดทนเพราะอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเรื่อย ๆขณะเดียวกันการเสียการทรงตัวก็จะลดลงตามลำดับ

ขั้นตอนที่ 1 การบริหารศีรษะ

  • ท่าที่ 1 หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง สลับไปมา เริ่มต้นทำช้า ๆ แล้วค่อย ๆ เร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)
  • ท่าที่ 2 ก้มศีรษะไปด้านหน้าแล้วค่อย ๆ เงยขึ้นจนตั้งตรงแล้วแหงนต่อไปด้านหลังเริ่มต้นทำช้า ๆ แล้วค่อย ๆ เร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 2 การบริหารศีรษะร่วมกับสายตา (ภาพนิ่ง)

  • ท่าที่ 1 มองภาพหรือวัตถุที่อยู่บนกำแพงหรือโต๊ะ ในระยะห่าง 3-4 ฟุต
  • ท่าที่ 2 ในขณะที่มองภาพหรือวัตถุในท่าที่ 1 ให้หันศีรษะจากด้านซ้ายไปด้านขวาแล้วหันกลับไปทางซ้ายสลับไปมา โดยที่ตายังจ้องมองภาพหรือวัตถุเดิมตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้า ๆแล้วค่อย ๆ ทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)
  • ท่าที่ 3 ในขณะที่มองภาพหรือวัตถุในท่าที่ 1 ให้ก้มแล้วเงยศีรษะขึ้นลงโดยที่ตายังจ้องมองภาพหรือวัตถุดิบตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้า ๆ แล้วค่อย ๆทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 3 การบริหารศีรษะร่วมกับสายตา

image 33
  • ท่าที่ 1 ถือลูกบอล หรือลูกเทนนิสเล็ก ๆ ขนาดเหมาะมือไว้ที่มือด้านขวา
  • ท่าที่ 2 โยนลูกบอล และให้มือซ้ายรับ ขณะเดียวกันหันศีรษะ และตาจ้องมองลูกบอลตลอดเวลา (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 4 การบริหารการทรงตัว-ท่ายืน

  • ท่าที่ 1 ยืนตัวตรง เท้าชิด กอดอก
  • ท่าที่ 2 ในขณะที่ยืนในท่าที่ 1 ให้หันศีรษะจากซ้ายไปขวาสลับไปมาค่อย ๆ ทำช้า ๆ แล้วเร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)
  • ท่าที่ 3 ในขณะที่ยืนในท่าที่ 1 ให้ก้มและเงยศีรษะขึ้นลงค่อย ๆ ทำช้า ๆ แล้วเร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 5 การบริหารการทรงตัว-ท่าเดิน

  • ท่าที่ 1 เดินต่อเท้าโดยให้ส้นเท้าหน้าชิดปลายเท้าหลังต่อเป็นเส้นตรง
  • ท่าที่ 2 เมื่อทำท่าที่ 1 ได้ดีแล้วขั้นตอนต่อไปควรฝึกทำโดยหลับตาเดินต่อเท้า (ควรมีญาติอยู่ใกล้ ๆ เพื่อคอยระวังจะล้ม)

          หลังจากฝึกกายบริหารดังกล่าวจนอาการใกล้เป็นปกติขั้นตอนต่อไปท่านควรเลือกเล่นกีฬาที่ช่วยบำบัดอาการวิงเวียนศีรษะ ได้แก่เทนนิส แบดมินตัน ปิงปอง กอล์ฟ หรือกีฬาอื่นที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวศีรษะตา และลำตัว เพราะจะช่วยให้ท่านมีการปรับตัวของระบบการทรงตัวได้ดีขึ้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top