เบาหวานทำให้ตาบอด

จอประสาทตา หรือจอรับภาพซึ่งเป็นอวัยวะอยู่ภายในดวงตา ทำหน้าที่รับภาพที่เห็นส่งผ่านไปประสาทตาแล้วไปสมอง ภาวะที่ส่งผลให้จอประสาทตาทำงานผิดปกติจะส่งผลต่อการมองเห็นด้วย ซึ่งโรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถใช้หรือเก็บสะสมน้ำตาลได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเส้นเลือดของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงจอประสาทตา นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่เป็นเบาหวานมักเป็นต้อกระจกเร็วกว่าคนปกติ คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสตาบอดได้ถึง 25 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน โดยสาเหตุที่พบบ่อยในคนไข้เบาหวานซึ่งทำให้ตามัว จนถึงสูญเสียการมองเห็น เกิดจากเส้นเลือดที่จอตาเกิดเปลี่ยนแปลงเปราะบางมีเลือดหรือน้ำซึมออกมา มีเส้นเลือดงอกแตกแขนงผิดปกติ โอกาสที่จะเป็นแบบนี้ได้มีถึง 60% เมื่อป่วยเป็นเบาหวานมานานกว่า 15 ปี

สาเหตุ

          เมื่อผู้ป่วยเป็นเบาหวานเป็นระยะเวลานาน เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ผนังหลอดเลือดในจอประสาทตาจะมีความผิดปกติ คือมีเม็ดเลือด, น้ำเหลือง, และ ไขมัน ซึมออกมาในจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาบวมและขาดออกซิเจน การขาดออกซิเจนของจอประสาทตาเป็นเวลานานนำมาซึงการงอกใหม่ของเส้นเลือด เส้นเลือดที่งอกใหม่มีความเปราะแตกง่าย เกิดเลือดออกได้ง่าย ส่งผลให้น้ำวุ้นตาขุ่นมัว จอประสาทตาลอก และทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด เราเรียกโรคแทรกซ้อนที่เกิดที่จอประสาทตาในตาของผู้ป่วยเบาหวานว่า “เบาหวานขึ้นตา”

เบาหวานขึ้นตามีมากแค่ไหน

          ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในยุโรป เบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุทำให้คนช่วงอายุ 40-60 ปี ตาบอดเป็นอันดับที่ 2 แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการการรักษาจอประสาทตาด้วยเลเซอร์แพร่หลายขึ้น จึงทำให้สถิติตาบอดจากโรคนี้ลดลงเป็นอันดับที่ 4

          ในประเทศไทย คาดว่ามีผู้ป่วยเบาหวานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจรักษาตาอย่างถูกต้อง และต้องสูญเสียสายตาไปเป็นจำนวนมาก

จะทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ตาบอด

          เบาหวานขึ้นตาเป็นโรคที่จอประสาทตาอยู่ภายในลูกตา ไม่สามารถตรวจเช็คได้ด้วยตาเปล่า ผู้ป่วยไม่ว่าจะควบคุมเบาหวานดีเพียงใด แต่เมื่อเป็นเบาหวานหลายปีก็มีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตาได้ทั้งนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวาน อาจจะเป็นมานานแล้วหรือเริ่มเป็น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อวัดสายตา เช็คจอประสาทตาตั้งแต่ทราบว่าเป็นเบาหวาน เพราะเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยยังไม่มีอาการตามัว จนกว่าอาการแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตาเข้ามาใกล้ศูนย์กลางของการเห็น ผู้ป่วยจึงจะเริ่มรู้สึกตามัว ซึ่งขณะนั้นอาจเป็นระยะที่เป็นเบาหวานขึ้นตาขั้นรุนแรง

อาการเปลี่ยนแปลงของจอตาในผู้ป่วยเบาหวาน

          ระยะที่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่จอรับภาพ บางเส้นมีขนาดเล็กลง บางเส้นใหญ่โป่งพองคล้าย ๆ ถุงน้ำ บางเส้นตีบแคบลงทำให้เกิดการอุดตันการไหลเวียนเลือด ทำให้มีเลือด หรือน้ำซึมออกมา ทำให้จอรับภาพบวม ระยะนี้ความผิดปกติของจอรับภาพยังไม่รุนแรง แต่บางรายน้ำซึมเข้าไปสะสมที่แมคคิวล่า ซึ่งเป็นส่วนที่ชัดที่สุด ทำให้ตาพร่ามัวมาเป็นอาการเตือนที่จะนำไปสู่อาการขั้นรุนแรงต่อไปได้

          ระยะที่ 2 จะมีอาการเกิดใหม่ของเส้นเลือดบนผิวของจอตา เส้นเลือดใหม่นี้จะเปราะแล้วแตกออกมีเลือดออกในน้ำวุ้นของตาทำให้แสงผ่านจากเลนส์ไปยังจอตาไม่ได้ดี นอกจากนี้พังผืดเนื้อเยื่อที่จะดึงรั้งทำให้จอรับภาพลอกหลุดมา ถึงขั้นนี้ผู้ป่วยอาจจะเห็นแค่โบกมือไหว ๆ หรือเห็นเพียงแสง ระยะนี้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ไม่ได้ผล ทำผ่าตัดน้ำวุ้นตาก็อาจดีขึ้นบ้าง แต่เลือดอาจออกมาอีกจากเส้นเลือดที่งอกผิดปกติในจอตาได้

สภาพสายตาของผู้สูงอายุ

          อายุประมาณ 38 ใกล้ 40 จะมีอาการอ่านหนังสือไม่ชัด ชาวบ้านมักพูดว่าสายตายาว ที่จริงเกิดจากสภาพของเลนส์ตาไม่สามารถจะหดพองตัวปรับภาพให้ชัดในระยะต่าง ๆ ได้รวดเร็วเหมือนเมื่ออายุน้อย ๆ เกิดจากเลนส์เสื่อมเพราะมีอายุมากขึ้น คนสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นสายตาจะกลับเป็นปกติได้หรือไม่ ไม่ได้เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ก็เริ่มอ่านหนังสือในระยะใกล้ไม่ชัด

ผู้สูงอายุจะมีสายตายาวทุกคนหรือไม่

          เมื่ออายุมากขึ้น มนุษย์ทุกคนจะสายตายาวขึ้น เพราะเมื่อร่างกายแก่ลง เลนส์ตาของเราก็เสื่อม ทำงานไม่ดีเหมือนเดิม

มีโรคทางตาอะไรบ้างที่เกิดได้มากเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

          ที่พบมากคือ ต้อกระจก มีสภาพเลนส์ตาขุ่นแสงผ่านได้น้อยทำให้ตามัว ต้อหิน รองลงมา พบอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากเยื่อตาอักเสบเรื้อรังทำให้หนังตาบิดงอ อายุราว 50 ปีขึ้นไป ก็มีโรคทางจอตาเสื่อมการใช้สายตาอย่างไม่ถูกต้องตั้งแต่อายุน้อย จะมีผลอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น การอ่านหนังสือในที่มืด เพ่งตัวหนังสือเล็ก ๆ ทำการเย็บปักละเอียด ๆ ต้องเพ่งตาตลอดเวลา นาน ๆ ทำให้ตาแก่เร็ว ต้องใช้แว่นตาสายตาแก่ หรือที่เรียกกันประจำมาผิด ๆ ว่าสายตายาวเร็วขึ้น

วิธีการตรวจจอประสาทตา

  • วัดสายตา
  • วัดความดันตา
  • หยอดยาขยายม่านตา
  • ใช้กล้องส่องจอประสาทตา
  • ตรวจพิเศษด้วยการฉีดสีฟลูออเรสซีน เป็นบางกรณี
  • การรักษาการติดตามอาการโรค

          ถ้าจักษุแพทย์ตรวจจอประสาทตาแล้วไม่พบเบาหวานขึ้นตา จะนัดตรวจทุก 1 ปี หรือ 6 เดือน
ถ้ามีเบาหวานขึ้นตา ในระยะที่เหมาะสมกับการรักษาด้วยเลเซอร์ ก็จะมีการรักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อไม่ให้จอประสาทตาบวมมากขึ้น เส้นเลือดที่งอกใหม่ในจอประสาทตาจะลดน้อยลง เมื่อได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์แล้ว
หลังการรักษาด้วยเลเซอร์

          หลังจากรักษาด้วยเลเซอร์ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ พักผ่อนนอนสัก 2 ชั่วโมง ไม่ควรออกกำลังมากในวันนั้น ตาข้างที่รักษาไม่จำเป็นต้องปิดตา ม่านตาที่หยอดยาขยายจะเล็กลงเป็นปกติภายใน 4 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดตา ทานยาแก้ปวดได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการปวดหรือบวมหลังทำการรักษาด้วยเลเซอร์ ถ้ามีอาการปวด หรือบวมใช้น้ำเย็นประคบสัก 10 นาที ก็จะรู้สึกสบายขึ้น รับประทานอาหารตามปกติ

          เมื่อทำการรักษาด้วยเลเซอร์เสร็จแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นครั้งคราว การใช้แสงเลเซอร์รักษาอาจทำได้เพิ่มเติมเป็นครั้งคราว แล้วแต่อาการผิดปกติของเส้นเลือดในจอประสาทตาของผู้ป่วย

ผลของการรักษา

          การรักษาจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน ถ้ามาในระยะที่เริ่มเป็น การรักษาจะได้ผลดี ถ้าหากเป็นมากแล้ว มีเส้นเลือดงอดมากมาย เลือดออกในน้ำวุ้นตา ตาลอก การรักษาก็ยาก สายตาอาจไม่ดีขึ้น อาจต้องทำการผ่าตัดน้ำวุ้นตา และใช้แสงเลเซอร์ขณะทำการผ่าตัด ผ่าตัดจอประสาทตาลอก อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะทิ้งไว้นานไม่ได้รักษาแต่เริ่มเป็น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top