นอกจากปัญหานิ่วในท่อน้ำลายแล้วเนื้องอก ก็เป็นโรคที่เป็นปัญหากับต่อมน้ำลายเช่นเดียวกัน
เนื้องอกของต่อมน้ำลายมีทั้งแบบไม่ร้าย และเนื้องอกแบบร้าย หรือที่เรียกกันว่า เป็นมะเร็งนั่นเอง จากอุบัติการณ์พบว่า ต่อมน้ำลายที่มีขนาดเล็ก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่ามีหลักในการจำง่ายๆ คือ ต่อมน้ำลายหน้าหู ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุดมีโอกาสเป็นมะเร็ง 1 สลึง หรือ 25% ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมีโอกาสเป็นมะเร็ง 50 สตางค์ หรือ 50% และต่อมน้ำลายใต้ลิ้นมีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 3 สลึง คือประมาณ 75%
อาการที่สำคัญของเนื้องอก ก็คือการมีก้อนบริเวณต่อมน้ำลาย ซึ่งมักค่อยๆ โตขึ้น และมักไม่ค่อยมีอาการอะไรผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนโดยบังเอิญ หรือมีคนทักหรือไปรับการตรวจร่างกายประจำปีแล้วพบ ในบางราย อาจมาด้วยอาการต่อมน้ำลายอักเสบ จากการที่ก้อนอุดกั้นทางเดินน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายยุบบวม จึงตรวจพบก้อน
เมื่อพบก้อนที่ต่อมน้ำลาย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องบางกรณี อาจทำการเจาะดูดเพื่อเอาเซลล์ไปตรวจ (การเจาะดูดเซลล์ไปตรวจในบริเวณต่อมน้ำลาย มีข้อจำกัด) หรือบางครั้งอาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจหาขอบเขตของก้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตรวจและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลอยู่ ปกติถ้าพบก้อนที่ต่อมน้ำลาย แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัด เป็นทั้งการรักษาและเป็นวิธีที่สามารถให้การวินิจฉัยได้แม่นยำทีสุดจากการได้เนื้อเยื่อมาตรวจ
การผ่าตัดเนื้องอกบริเวณต่อมน้ำลายหน้าหู จำเป็นต้องลงแผลค่อนข้างยาวเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเข้าไปหาเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าและเก็บไว้ให้กับผู้ป่วย หากเกิดอันตรายกับเส้นประสาทเส้นนี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่แสดงอารมณ์ของใบหน้าทำงานผิดปกติ เช่น ปิดตาไม่สนิทปากเบี้ยวเวลายิ้มหรือทำปากจู๋ ซึ่งอาจเป็นชั่วคราว (ประมาณ 1-2 เดือน)หรือเป็นแบบถาวร ในกรณีที่ช้ำมาก หรือถูกตัดขาดเป็นต้นสำหรับโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอกของต่อมน้ำลายจะกล่าวในตอนต่อไป
หากเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร ก็แนะนำให้ตัดออกเช่นเดียวกัน โดยจะลงแผลบริเวณใต้ขากรรไกร ความยาวประมาณ 4-5 ซม. แล้วเข้าไปตัดเนื้องอกออก บริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงมุมปากรวมทั้งเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ลิ้นซึ่งต้องทำการผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง หลังการผ่าตัด แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่หากโชกไม่ดีเป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือเป็นมะเร็ง การรักษาขั้นตอนต่อไปจะขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง บางชนิด อาจไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมใช้ติดตามการรักษา ก็เพียงพอ บางชนิดจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อนำต่อมน้ำลายที่เหลือออกให้หมดหรืออาจจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอออกทั้งหมดด้วย นอกจากนี้แล้วอาจจำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยการให้รังสีรักษาหรือให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมอีกด้วย เห็นอย่างนี้แล้ว หากมีก้อนที่บริเวณแก้ม ใต้คาง รีบไปตรวจกับแพทย์ อย่านิ่งนอนใจนะครับ
นพ. สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรค หู คอ และ จมูก
ผู้ประพันธ์