ร่างกายคนเราจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่สำคัญครบทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ จึงจะทำให้อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ได้ตามปกติ
ร่างกายจะมีเกลือแร่อยู่ร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัว และสามารถแบ่งเกลือแร่ที่คนต้องการออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. เกลือแร่ที่ต้องการในขนาดมาก หมายถึง ร่างกายต้องการวันละมากกว่า 100 มิลลิกรัม เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม เป็นต้น
2. เกลือแร่ที่ต้องการในขนาดน้อย หมายถึง ร่างกายต้องการวันละ น้อยกว่า 15 มิลลิกรัม เช่น เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน ฟลูโอรีน เป็นต้น
ความสำคัญของเกลือแร่ต่อร่างกาย พอสรุปได้ 5 ประการ คือ
1. เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม
2. เป็นส่วนประกอบของโปรตีน ฮอร์โมน เช่น เหล็ก เป็นส่วนประกอบของสารที่ทำหน้าที่ขนถ่ายออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย
3. ควบคุมความเป็นกรดด่างของร่างกาย เพื่อความสมดุลในการทำงานของเซลล์ต่างๆ
4. ควบคุมความสมดุลของน้ำที่อยู่ภายในร่างกาย
5. เกลือแร่หลายชนิดทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาภายในร่างกาย
ร่างกายคนเราเปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ ที่ต้องมีการทำงานของอวัยวะต่างๆ ประสานสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเกลือแร่ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่เราไม่ควรจะละเลย นะคะ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์