ความผิดปกติของการหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ

(SLEEP – RELATED BREATHING DISORDERS)คนเราถ้ายังมีชีวิตอยู่ต้องมีการหายใจ คนเราต้องหายใจตลอดเวลาทั้งในขณะตื่นและหลับ วันหนึ่ง ๆ เราต้องการนอนหลับโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละบุคคล ในขณะที่เราหลับนี้อาจมีความผิดปกติทางการหายใจเกิดขึ้นได้ โดยอาจเป็นภาวะหรือโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีการนอนหลับ หรือเป็นการแสดงอาการที่มากขึ้น ของโรคระบบหายใจที่เป็นอยู่แล้วขณะตื่น

image 27

การหายใจ (Breathing) ที่ จะกล่าวถึงทั้งหมดนี้ หมายถึงการนำอากาศเข้าไปในร่างกายจนถึงกระแสเลือด ไม่ใช่การหายใจในระดับเซลล์ (Cellular Respiration) ซึ่งหมายถึงการนำเอาออกซิเจนไปใช้เผาผลาญสารอาหารการหายใจสามารถแยกออกได้เป็น 2 กระบวนการ คือ การถ่ายเทอากาศ(Ventilation) และการเติมออกซิเจนให้กระแสเลือด (Oxygenation) ใน คนปกติการถ่ายเทอากาศจะลดลง ตั้งแต่เราเริ่มนอนหลับ ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น เดิมนั้นเข้าใจว่าเกิดจากสมองส่งสัญญาณกระตุ้นให้ร่างกายหายใจน้อยลง แต่ปัจจุบันพบว่า ความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วเกิดจากความต้านทานการไหลของอากาศผ่านลำคอสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังเป็นความจริงที่ว่าเมื่อสมองถูกกระตุ้นจากคาร์บอนไดออกไซด์ ในเลือดที่สูงขึ้นซึ่งสมองควรจะตอบสนองโดยการส่งสัญญาณมากระตุ้นให้ร่างกาย หายใจมากขึ้น สมองกลับไม่ตอบสนองมากเท่าที่ควร นอกจากนี้เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งในขณะตื่นนั้น จะมีการกระตุ้นให้เราหายใจมากขึ้น แต่ในขณะหลับ ตัวรับสิ่งกระตุ้นเหล่านี้กลับด้านชากว่าในขณะตื่น โดยจะด้านชามากที่สุดในช่วงหลับฝัน (REM Sleep) ตัวรับสิ่งกระตุ้นให้เกิดการหายใจ ก็ตอบสนองน้อยลงในขณะหลับเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปคือ ในภาวะ ปกติในขณะที่มีการนอนหลับจะมีการหายใจลดลงและร่างกายก็ไม่ตอบสนองต่อภาวะ คาร์บอนไดออกไซด์สูงและออกซิเจนต่ำได้ดีเท่ากับในขณะตื่น

ความผิดปกติของการหายใจที่เกี่ยวกับการนอนหลับที่พบบ่อย มี 4 ชนิด คือ การกรน, โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ, โรคแรงต้านทานในทางเดินหายใจสูงและการ หายใจแบบชินสโต๊ก

การกรน

เกิดจากการสั่นของผนังลำคอและเพดานปากรวมทั้งลิ้นไก่ขณะ หายใจ อุบัติการของการกรนขึ้นอยู่กับอายุและเพศ โดยรวมแล้ว 25% ของผู้ชาย และ 15% ของผู้หญิง กรนเป็นประจำ ในวัยกลางคน (40 – 65 ปี) อุบัติการจะสูงขึ้นเป็น 60% ในผู้ชายและ 40% ในผู้หญิง การกรนอาจมีผลมากจากความผิดปกติของผนังจมูก,ทอนซิล. รูปร่างของคางและลิ้น,โรคภูมแพ้, ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ ยาและสุราหรือ พันธุกรรม พบว่าประมาณ 40 – 60 % ของผู้ที่กรนเป็นประจำมีโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea ) การศึกษาทางระบบวิทยาพบว่า การกรนอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต ปัญหาการนอนของคนใกล้ชิดและการหย่าร้าง

โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea )

โรคนี้พบว่ามีการอุดกั้นของการเดินหายใจต่อบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณลำคอขณะหลับ สาเหตุของโรคนี้ซับซ้อนและมีหลายอย่างรวมกัน เช่น บางคนอาจมีขนาดของทางเดินหายใจที่เล็กกว่าคนทั่วไป บางคนมีความผิดปกติของผนังหรือโครงสร้างอื่น ๆ ในจมูก, ริดสีดวงจมูก, ทอนซิลโต บางคนมีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินหายใจตอนบน ผลที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับคือ ร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองขาดออกซิเจนเป็นระยะ ๆ อาจบ่อยถึง 50 ครั้ง ต่อนาทีในรายที่เป็นมาก ทำให้สมองสวิทช์กลับไปมาจากการหลับลึกเป็นตื้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อพยายามส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ อาการหลักของโรคนี้คือ ง่วงหงาวหาวนอนเวลากลางวัน ผล็อยหลับขณะทำงาน มีปัญหาในการทำงาน ถูกไล่ออกจากงาน หลับขณะขับรถเวลารถติดหรืออุบัติเหตุทางการจราจรจากการหลับใน คู่สมรสมักพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหากรนเสียงดังหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผู้ป่วยเองอาจบ่นว่ามีอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะเวลาเช้า ความจำไม่ดี หงุดหงิดง่ายซึมเศร้า สมรรถภาพทางเพศเสื่อม โรคนี้มักมีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และโรคความดันโลหิตในปอดสูง ผู้ที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรงมีอัตราตายสูงกว่าบุคคลทั่วไป

การวินิจฉัยทำได้โดยการเริ่มจากการซักถามประวัติการ นอนอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย และการยืนยันโดยการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วย นอนหลับในห้องปฏิบัติการนอนหลับเป็นเวลา 1 คืน จะมีการวัดคลื่นสมองและตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตา เพื่อดูระดับต่าง ๆ ของการหลับ ตรวจกระแสลมที่ผ่านจมูก ตรวจจับเสียงกรน ตรวจกล้ามเนื้อคาง ตรวจการเคลื่อนไหว ของทรวงอกและหน้าท้อง การเคลื่อนไหวของขา ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระดับของออกซิเจนในเลือด ทั้งหมดนี้จะตรวจไปพร้อมกันขณะหลับ การตรวจนี้จะให้การวินิจฉัยและบอกความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาต่อไป

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้น กับสภาพความผิดปกติและความรุนแรงการรักษาขั้นพื้นฐานที่ต้องทำ คือ ลดน้ำหนัก งดการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ยาบางอย่างซึ่งมีผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในลำคอ อาจต้องถูกงดไป หากผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้ คัดจมูก ก็ควรได้รับการรักษาด้วย เนื่องจากสิ่งนี้ทำให้โรคหยุดหายใจขณะหลับมีอาการรุนแรงขึ้น

image 28

การใช้หน้ากากและเครื่องเพิ่มความดันของทางเดินหายใจ (CPAP) ถือ ว่าเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับโรคนี้ ผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากที่ครอบจมูกหรือจมูกและปากขณะนอนหลับ หน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่อง ปัมพ์ลม ที่มีขนาดประมาณเครื่องปิ้งขนมปัง หลักการคร่าว ๆ ของเครื่องนี้ ก็คือ ใช้กระแสลมก่อให้เกิดความดัน ในช่องคอเพื่อจะค้ำผนังลำคอ มิให้หย่อนตัวและปิดขณะหายใจ เครื่องมือนี้สามารถรักษาได้ถึง 95% ของผู้ป่วย ข้อจำกัดคือ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาปรับตัว ให้เกิดความคุ้นเคยกับเครื่อง โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน พบว่าประมาณ 70% ของผู้ป่วยใช้เครื่องมือนี้อย่างสม่ำเสมอ

การใช้อุปกรณ์ดึงคางหรือขากรรไกร (Oral appliance) เป็น อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรณีที่ความรุนแรงของโรคไม่มาก วิธีนี้ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์เฉพาะตัวของผู้ป่วย คล้าย ๆ กับการจัดฟัน ผู้ป่วยจะต้องสวมอุปกรณ์นี้ขณะนอนหลับทุกคืน เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้กว้างพอที่อากาศจะไหลเข้าออกได้ ข้อเสียคือ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทนใส่อุปกรณ์นี้ได้ขณะหลับ

การผ่าตัด ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ ใช้ในการรักษาโรคนี้ โดยหลักการแล้ว การผ่าตัด จะเข้าไปแก้ไขการอุดกั้นทางเดินหายใจของผู้ป่วย ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น อาการกรน รวมทั้งการหยุดหายใจขณะหลับก็หายไป ดังนั้น ถ้าการผ่าตัดได้ผล ผู้ป่วยก็จะหายขาดจากอาการกรน รวมทั้งอาการหยุดหายใจขณะหลับไปเลย

การจะผ่าตัดส่วนใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน ว่ามีการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนใด เช่นการผ่าตัดปรับผนังกั้นกลางจมูกจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีผนังกั้นกลางจมูก คด การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของผนังข้างของจมูกจะทำในกรณีที่เป็นเยื่อบุจมูกอักเสบ เรื้อรัง การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือตัดต่อมอดีนอยด์ออกทำในกรณีที่เป็นต่อมทอนซิลหรือ ต่อมอดีนอยด์อักเสบเรื้อรัง หรือการผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อนของผู้ป่วยทำในกรณีที่มีเพดานอ่อน หรือลิ้นไก่หนาตัวมากกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้วิธีการผ่าตัดธรรมดา การใช้ลำแสงเลเซอร์ หรือการใช้คลื่นวิทยุในการรักษา

image 29

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดวิธีใหม่ และเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ แบบ Somnoplasty จะถูกปล่อยเข้าไปในเนื้อเยื่อของผู้ป่วย และถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ไม่สูงมากนัก เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน เนื้อเยื่อเกิดการหดตัว ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น อาการกรน รวมทั้งอาการหยุดหายใจขณะหลับก็หายไป ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ไม่เจ็บ ไม่ต้องดมยาสลบ สามารถทำได้ที่ห้องตรวจ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หลังทำการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ หรือสังเกตอาการเพียง 1 คืน และไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักต้องรับการรักษาด้วยวิธีนี้ 2 ครั้งห่างกันประมาณ 6-8 อาทิตย์ อาการต่างๆก็จะหายไป การรักษาด้วยคลื่นวิทยุนี้ สามารถทำได้ทั้งที่ช่องจมูก เพดานอ่อน หรือบริเวณโคนลิ้น และให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

ในกรณีที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับอยู่ในขั้นรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดที่ทำให้ช่องลำคอกว้างขึ้น ดึงขากรรไกรมาทางด้านหน้า หรืออาจต้องใช้วิธีเจาะคอของผู้ป่วย เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ ในกรณีที่เป็นมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วเท่านั้น

โรคแรงต้านทานในทางเดินหายใจสูง (Upper Airway Resistance Syndrome)

โรคนี้ก่อให้เกิดการง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน เช่นกัน แต่ไม่มีการขาดออกซิเจน เป็นระยะๆขณะหลับ อย่างที่พบในโรคหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ป่วยจะมีการตื่นเป็นระยะ ๆ เนื่องจากมีแรงต้านการหายใจ อันเกิดจากทางเดินหายใจตอนบน การตรวจทางเข้าปฏิบัติการนอน จะพบว่า ผู้ป่วยต้องใช้แรงมากขึ้นในการหายใจ มีการนอนกรนที่ดังขึ้นและตามมาด้วยการตื่นนอน โดยตรวจพบจากคลื่นสมอง ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าการนอนของตนเองถูกขัดจังหวะเลย

การหายใจแบบ ชีน – สโต๊ก (Cheyne – Stokes Ventiration)

พบในโรคต่าง ๆ หลายโรค เช่น หัวใจล้มเหลว โรคระบบประสาทส่วนกลางและโรคไต นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว การใช้ออกซิเจนเครื่องช่วยหายใจหรือยาก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้

มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำงานน้อยกว่าปกติขณะหลับ กลุ่มนี้เรียกว่า Central sleep apneaผู้ ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตอนกลางดึก หายใจไม่พอ เมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการนอนจะพบว่ามีกระแสลมผ่านเข้าออกจากจมูก น้อยกว่าปกติพร้อมกับการที่หน้าอกและท้องหยุดเคลื่อนไหวหรือไม่มีการออกแรง เพื่อหายใจนั่นเอง การรักษาอาจเป็นยา หรือ การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ก็อาจมีปัญหาการหายใจมากขึ้นขณะนอนหลับได้ บาง รายเป็นจากการมีโรคหยุดหายใจขณะหลับร่วมกับโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้โรคแทรกซ้อนต่อหัวใจเกิดขึ้นได้มากกว่าทั่วไป แต่ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังอย่างเดียว ก็อาจมีความผิดปกติทางการหายใจขณะหลับได้ โดยเป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อหายใจ และศูนย์ควบคุมการหายใจที่แย่อยู่แล้วจากโรคขณะตื่น ทำงานมีประสิทธิภาพลดลงขณะหลับ ตามกลไกปกติของร่างกาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยต้องคำนึงถึงไว้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังขนาดปานกลางหรือรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีอาการมากเกินกว่าคาดหมาย เมื่อตรวจสมรรถภาพทางปอด การตรวจวัดออกซิเจนขณะหลับ หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการนอน สามารถช่วยวินิจฉัยและกำหนดการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top