ข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลง (ankle sprain) เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง ส่วน ใหญ่จะเดินสะดุดก้อนหิน ขอบถนน หรือพื้นที่ไม่เรียบ หรือขึ้นลงบันไดแล้วพลาด เป็นต้น สำหรับในกลุ่มที่เล่นกีฬาก็พบได้บ่อยเช่นกัน จากการวิ่งแล้วล้มลง หรือปะทะกันแล้วล้มลง ข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในนักกีฬาประเภทต่างๆ เช่น นักวิ่ง นักฟุตบอล นักกีฬายิมนาสติก เป็นต้นคนที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาก็สามารถพบได้บ่อยส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ใส่ส้นสูงเกิดเท้าพลิก ตกบันได อุบัติเหตุรถยนต์ ข้อเท้าแพลงเกิดจากเอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าได้รับการฉีกขาด อาจ จะเป็นเพียงบางส่วน แต่ในรายที่รุนแรง เอ็นอาจจะฉีกทั้งเส้น ทำให้ข้อเท้าไม่มั่นคง การออกกำลังกาย ถ้าเราทำอย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ข้อเท้าแพลงเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดจากการออกกำลังกายที่พบบ่อย การ เกิดข้อเท้าแพลง เกิดจากการบิดของข้อเท้าที่เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การหกล้ม หรือการวิ่ง ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ จะทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อเท้ามีการฉีก หรือการกระชากออก ทำให้เกิดอาการบวมและปวดของข้อเท้าตามมา กายวิภาคของข้อเท้าข้อเท้าของคนเรา นอกจากมีกระดูกมาประกอบกันเป็นข้อต่อแล้ว ยังมีเยื่อหุ้มข้อโดยรอบ ในวันหนึ่งๆ ข้อเท้าและเท้าต้องทำหน้าที่หนักมาก ในเวลาเดิน ข้อเท้าและเท้าจะต้องรับน้ำหนัก 1.5 เท่าของน้ำหนักตัว ถ้าคิดคำนวณโดยเฉลี่ยแล้ว คนเราใช้เท้าเดินประมาณปีละ 1,000 ไมล์ และเมื่อออกกำลังกาย ข้อเท้าและเท้าจะต้องรับน้ำหนักประมาณ 1,000 ปอนด์ต่อชั่วโมง

การตรวจข้อเท้า

1. ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดหรือบวมที่เท้า หรือมีความลำบากในการสวมรองเท้า ส่วนเด็กที่เท้ามีลักษณะผิดปกตินั้น บิดามารดา ครู หรือผู้ใกล้ชิดมักเป็นผู้สังเกตเห็น เพราะเด็กไม่มีอาการ
2. การตรวจร่างกายในท่ายืน ควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อคลุมทับชุดชั้นใน เพื่อให้เห็นความผิดปกติในส่วนอื่นที่อาจเกิดร่วมกับความผิดปกติของเท้าได้ ควร ตรวจหลัง ข้อตะโพก และข้อเข่าด้วย สังเกตดูความผิดปกติในขณะที่ผู้ป่วยหันหน้าเข้าหาผู้ตรวจก่อน ต่อมาจึงให้หันหลัง สำหรับที่เท้าเองนั้นควรสังเกตลักษณะและรูปเท้า โดยปกติแล้วผู้ป่วยควรยืนเต็มเท้า น้ำหนักตัวลงไปบนส้นเท้าและปลายเท้าเท่ากัน ควร สังเกตอุ้งเท้าด้วยว่าสูงกว่าปกติหรือไม่มีอุ้งเท้า นิ้วเท้าเกหรืองอพับมากกว่าปกติ หลังจากนั้นจึงให้ผู้ป่วยเดินเพื่อสังเกตว่ามีอาการปลายเท้าตกหรือข้อเท้า ติดแข็ง
3. การตรวจร่างกายในท่านั่งห้อยเท้าตรวจ หารอยแผลหรือบริเวณที่ผิวหนังหนาผิดปกติทั้งทางด้านหลังเท้าและฝ่าเท้า กดและคลำหาบริเวณที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
4. การตรวจการหมุนของข้อต่าง ๆ ของเท้า การ ตรวจข้อเท้า ใช้มือหนึ่งรวบข้อเท้าและใช้อีกมือหนึ่งจับรวบเท้า โยกเท้าให้กระดกขึ้นและลง โดยปกติแล้วข้อเท้าจะกระดกขึ้นได้ 30 องศา และลงได้ 45 องศา โดยถือท่าที่เท้าได้ฉากกับขาเป็น 0 องศา การตรวจข้อส้นเท้า ใช้มือหนึ่งจับข้อเท้าและอีกมือหนึ่งจับส้นเท้าบิดให้พลิกเข้าและออก ปกติแล้วกระดูกส้นเท้าจะพลิกออกมากกว่า สำหรับข้อกลางเท้าปกติแล้วจะไม่มีการเคลื่อนไหว ส่วนข้อนิ้ว ควรงอและเหยียดได้พอสมควร
5. การตรวจเอกซเรย์ข้อเท้า ควรถ่ายอย่างน้อย 3 ท่า (AP, lateral และ oblique) เพื่อให้เห็นกระดูกและข้อต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

ข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าแพลงเป็นการที่เยื่อหุ้มข้อถูกยืด มากเกินไป จนกระทั่งมีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้มีเลือดออกบวม มากน้อยแล้วแต่ว่าฉีกขาดมากเพียงใด ถ้าฉีกขาดมากจะทำให้ข้อ เท้าไม่แข็งแรง และ การรักษาอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อไปเย็บซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่ฉีกขาด อาการที่เกิดขึ้นจะบวมและปวดบริเวณข้อเท้า สังเกตเห็นรอยเขียวรอบข้อเนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. ลดหรือหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ เช่น บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาให้หยุดเล่น ถ้าหากกำลังเดินอยู่ก็ให้หยุดนั่งพักก่อน เพื่อดูว่าการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลงมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
2. ใช้ความเย็นประคบส่วนที่เจ็บ หรือส่วนที่บวม เพื่อ ลดความเจ็บปวดและจะช่วยทำให้เลือดออกน้อยลง เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว อาการบวมก็จะน้อยลงด้วย ดังนั้นการหายจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สำหรับการใช้สิ่งที่ร้อนๆ ไปนวดจะยิ่งทำให้บวมมากขึ้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในระยะ 24-48 ชั่วโมงแรก ควรประคบถุงเย็นประมาณ 15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ บางคนได้ผลดีจากการประคบน้ำแข็งบริเวณข้อเท้า ที่สำคัญอย่านวดหรือรักษาอื่นใดหากยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
3. ใช้ผ้าพันส่วนที่บวมเพื่อให้ข้อที่บวมอยู่นิ่งๆ และไม่บวมมากขึ้น พยายาม ไม่เคลื่อนไหว หรือใช้ไม้ค้ำยัน เพื่อพักบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บนั้น อาจเลือกใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด เพื่อกระชับและช่วยพยุงข้อเท้าให้อยู่นิ่งๆ ได้
4. ให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดและลดอาการบวม

พบแพทย์

หลังจากดูแลรักษาเบื้องต้น ถ้ามีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะในบางกรณีอาจต้องเข้าเฝือกหรืออาจต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่ ขาด

แนวทางการตรวจรักษา

1. ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด
2. พิจารณาตรวจทางรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก
3. โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษา 6-8 สัปดาห์ แต่ภาวะข้อเท้าบวมจะหายก่อน
4. พักเท้าให้มากที่สุด อาจจะใส่เผือก หรือใช้ผ้าพัน และอาจจะใช้ไม้เท้าช่วยพยุงน้ำหนัก
5. การประคบน้ำแข็งให้กระทำทันที่ที่ได้รับอุบัติเหตุซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบได้มาก
6. ใช้ผ้าพันหรือใส่เผือกเพื่อลดอาการบวม
7. ให้ยกเท้าสูงเพื่อลดอาการบวม

การบริหารข้อเท้า

หลังจากที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้ว และอาการเริ่มดีขึ้น ให้เริ่มต้นบริหารโดยการขยับข้อเท้าให้ทุกทิศทางเช่น หมุนเข้าเท้า กระดกเท้า เหยียดเท้า บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกเท้า ข้อสำคัญของการบริหารต้องไม่ทำให้เกิดการเจ็บของข้อ

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top