อาการเวียนศีรษะ

หมายถึงกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากการได้รับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวที่ผิดปกติตัวอย่างคำที่ผู้ป่วยใช้อธิบายอาการเวียนศีรษะ ได้แก่ บ้านหมุน ตัวเบา ๆลอย ๆ หน้ามืด โคลงเคลงคล้ายอยู่ในเรือ งุ่มง่ามรู้สึกเหมือนศีรษะจะคะมำไปข้างหน้า หรือรู้สึกเหมือนตัวจะลื่นไถลบางคนอาจรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูงหรือมีความรู้สึกว่าจะล้มไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

สาเหตุของการเกิดอาการเวียนศีรษะ

การที่ร่างกายของคนเราสามารถทรงตัวอยู่ได้และรับรู้ว่าศีรษะและร่างกายอยู่ในท่านั้นสมองต้องได้รับข้อมูลจากอวัยวะในการรับความรู้สึกที่เกี่ยวกับระบบการทรงตัว 3 ระบบ คือ

1. อวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน

2. อวัยวะรับรู้โดยการเห็น ได้แก่ ตา

3. อวัยวะรับความรู้สึกจากล้ามเนื้อและข้อ

ถ้ามีความผิดปกติของการทำหน้าที่ของอวัยวะดังกล่าว หรือสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่แปลผล ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะขึ้นมาได้

สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ

ส่วนใหญ่เกิดจากโรคของหูชั้นในและเส้นประสาทหู โดยพบถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเวียนศีรษะ ที่เหลือพบว่าเกิดจากโรคทางสมองโรคทางจิตเวช โรคทางตาและอื่น ๆ

เมื่อเราไปพบแพทย์หู คอ จมูก ด้วยเรื่องอาการเวียนศีรษะจะได้รับการวินิจฉัยและตรวจรักษาดังต่อไปนี้

1. การซักประวัติ เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคประวัติที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ ได้แก่
– ลักษณะอาการเวียนศีรษะ เช่น บ้านหมุน โคลงเคลงมีอาการเวียนศีรษะเมื่อเปลี่ยนท่าทาง ระยะเวลาทีเกิดเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือค่อยเป็นค่อยไปและระยะเวลาที่เป็นแต่ละครั้งมีอาการอยู่นานแค่ไหน
– อาการร่วมทางหู เช่น มีหนองไหลจากหู เสียงดังในหู หรือหูอื้อ
– อาการร่วมทางระบบประสาท เช่น หมดสติ ตามองเห็นภาพซ้อนชา บริเวณใบหน้า หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด เดินเซ เป็นต้น
– สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น อุบัติเหตุที่ศีรษะและคอ ประวัติการใช้ยา การดื่มสุรา การได้ยินเสียดังมาก ๆ

2. การตรวจร่างกาย
– ตรวจร่างกายทั่วไป
– ตรวจระบบหู คอ จมูก
– การตรวจทางระบบประสาที่เกี่ยวกับการทรงตัว

3. การตรวจเพิ่มเติม
– การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด โรคซิฟิลิส
– การตรวจการได้ยิน
– การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (ABR)
– การตรวจประสาทการทรงตัว (ENG)
– การตรวจทางรังสี ได้แก่ ภาพถ่ายรังสีของสมอง จะทำในกรณีสงสัยว่ามีรอยโรคในสมอง

การรักษา

– การรักษาขึ้นกับสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ
– การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการทรงตัว

เพื่อกระตุ้นการปรับตัวด้านการทรงตัวของสมองส่วนกลางตัวอย่างการบริหารร่างกายตามวิธีของ Brandt &Daroff ให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียง ห้องขาลงด้านข้างของเตียง หลับตาแล้วล้มตัวลงนอนตะแคงไปด้านที่เคยทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่นถ้าเคยตะแคงไปทางซ้ายหรือศีรษะอยู่ทางซ้ายแล้วเวียนศีรษะก็ให้นอนตะแคงทางซ้ายก่อน โดยจะต้องให้ศีรษะและลำตัวตะแคงซ้ายส่วนใบหน้าด้านซ้ายหันออกจากที่นอนจนกกหูซ้ายวางแนบกับที่นอนตะแคงอยู่ในท่านั้นจนอาการเวียนศีรษะหายไป จากนั้นลุกขึ้นั่งตรงเป็นเวลา 30 วินาที แล้วจึงล้มตัวด้านตรงข้ามกับครั้งแรกเป็นเวลา 30 วินาทีให้ทำติดต่อกันไปจนอาการเวียนศีรษะหายไป จึงหยุดพัก 3 ชั่วโมงแล้วเริ่มทำซ้ำอีก จะหยุดบริหารเมื่ออาการเวียนหายไปเป็นเวลานาน 2 วันติดต่อกันในกรณีที่อาการเวียนศีรษะเป็นมากเวลาบริหารอาจจะต้องมีคนคอยดูแลอาการ เพื่อกันไม่ให้ตกเตียง

ที่มา :
ผศ.พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้
อ.นพ.สมชาย ศรีร่มโพธิ์ทอง

ผศ.พญ. ขวัญชนก ยิ้มแต้
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top