การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ภายหลังได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ในช่วง 24-72 ชั่วโมงแรก โดยอาศัยหลัก หยุด เย็น ยืด และยก ดังที่ได้อธิบายไว้ในหัวข้อเรื่อง หลักการรักษา แล้วนั้น ในบางกรณีที่ยังไม่ดีขึ้นมาก หรือกรณีที่เป็นรุนแรง ซึ่งสังเกตได้จากอาการปวด บวมที่รุนแรง หรือมีแผลฉีกขาดร่วมด้วย ควรที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ทันที เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
สำหรับในหัวข้อเรื่องนี้ จะกล่าวถึงการรักษาทั่ว ๆไปตามอาการที่บาดเจ็บ ในกรณีที่แพทย์ตรวจแล้วว่าไม่มีสิ่งผิดปกติร้ายแรง แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้หลักการเดิมต่อไป คือ
1. การให้หยุดพักการออกกำลังกาย หรืออาจหยุดพักงาน พักเรียน ถ้าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นบริเวณ แขน หรือขา ที่ต้องการให้ส่วนนั้นๆ ได้พัก นอกจากนี้ แพทย์อาจจะต้องจำกัดการเคลื่อนไหว ของส่วนนั้นๆ โดยการเข้าเฝือกให้ส่วนนั้น อยู่นิ่งๆ เพื่อหวังผลให้ลดอาการบวมอย่างรวดเร็วในเบื้องต้น
2. การใช้ความเย็น ใน 24-72 ชั่วโมงแรก อาจใช้การประคบด้วยน้ำแข็งโดยตรง หรือใช้ผ้าพันก้อนน้ำแข็ง หรืออุปกรณ์สำเร็จรูปที่แช่เย็นไว้แล้ว ประคบบริเวณที่บวม หรือปวด แต่ถ้าหากเลย 72 ชั่วโมง มาแล้ว แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้ความร้อนแทน อาจโดยการประคบ การแช่น้ำอุ่นหรืออาจใช้บริการของหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือกายภาพบำบัด ที่จะใช้เครื่องมือที่ให้ความร้อนเกิดขึ้นในขั้นลึกๆ เช่น อัลตราซาวด์ เป็นต้น
3. การใช้ผ้ายืดพันส่วนที่บวม หรือฟกช้ำในเบื้องต้น แต่ถ้าหากพ้น 72 ชั่วโมง มาแล้วยังบวมอยู่ และเข้าเฝือกอยู่แล้วแพทย์อาจพิจารณาลดการเคลื่อนไหวต่อโดยการเข้าเฝือกต่อ ไป หรือถ้าไม่ จำเป็นต้องลดการเคลื่อนไหว แพทย์จะใช้ความร้อนมาช่วยเหมือนเช่นที่กล่าวไว้ในข้อ 2
4. การยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ ยังมีความจำเป็นอยู่ตลอดไป ถ้าหากมือหรือ เท้ายังบวมอยู่ภายหลังการใช้งาน ซึ่งแสดงว่าการไหลเวียนของเลือด กลับสู่หัวใจยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์