หูด

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในชั้นหนังกำพร้า เกิดเป็นเนื้องอกบนผิวหนัง ผู้ที่เป็นหูดส่วนใหญ่มักจะได้รับเชื้อไวรัสมาจากการสัมผัสโดยตรง ผิวหนังที่ถลอกหรือถูกกดทับจะติดเชื้อหูดได้ง่าย การแกะเกาจะทำให้กระจายไปส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ หูดด้านข้างนิ้วเท้าทำให้นิ้วที่อยู่ติดกันเป็นหูดที่บริเวณผิวหนังที่ชิดกับหูดได้ เราสามารถพบหูดได้ในทุกวัยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่

ลักษณะของหูดนั้นจะมีลักษณะเป็นเม็ดนูนแข็ง ผิวขรุขระ มีเม็ดเดียวหรือเป็นหลายเม็ดก็ได้ คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำจะมีจำนวนเม็ดมาก ส่วนใหญ่เกิดที่มือหรือเท้า ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้าจะคล้ายตาปลา เวลาเดินจะเกิดการกดทับตลอดเวลาจะทำให้มีอาการเจ็บมาก หูดอาจหายได้เองถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ถ้าภูมิคุ้มกันต่ำจะหายยาก ลุกลามได้ง่าย ควรรีบรักษา

สำหรับการรักษามีหลายวิธี อาจใช้วิธีทายากัดหูด ที่มีส่วนผสมกรดซาลิไซลิกและกรดแลกติก แต้มหูดวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งต้องใช้เวลาและความตั้งใจในการแต้มยา แต่จะไม่เจ็บไม่ปวดไม่เสียเลือด หายแล้วไม่เป็นแผลเป็น หรืออาจใช้วิธีผ่าตัดเอาออก จี้ออกด้วยไฟฟ้า หรือจี้ด้วยความเย็นก็ได้ สิ่งทีมีคนเข้าใจผิดเพราะหลงเชื่อกันมาเรื่อยๆ คือการใช้ธูปจี้หรือการใช้ยากัดหูดแรงๆ ดังนั้นท่านจึงไม่ควรใช้ธูปจี้หรือยากัดหูดแรงๆ เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top