การผ่าตัดขากรรไกร

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกร เรียกว่า Orthognatic Surgery เป็นการผ่าตัดเพื่อปรับตำแหน่งของขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เพื่อช่วยแก้ไขและปรับปรุงโครงหน้าที่ปกติ รวมถึงการแก้ปัญหาการสบฟันให้มีความถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากในบางกรณีความผิดปกติของขนาด รูปร่างหรือตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถส่งผลกระทบทำให้การสบฟันและการบดเคี้ยวผิดปกติ รวมไปถึงความผิดปกติของรูปหน้าอีกด้วย

คางยื่นผิดปกติ

สำหรับผู้ที่มีคางยื่นผิดปกติ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรจะช่วยปรับตำแหน่งให้มีการสบฟันที่ถูกต้อง ช่วยแก้ไขโครงหน้าให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดทำได้โดยเลื่อนขากรรไกรล่างให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำร่วมกับการปลูกถ่ายกระดูกขากรรไกร หรือการปรับแต่งกระดูกคางในบางกรณี

กระดูกขากรรไกรล่าง

มีเส้นประสาททอดไปตามมุมของขากรรไกร ลักษณะการวางตัวอยู่ในชั้นพื้นผิวต่อชั้นกล้ามเนื้อเส้นประสาทเส้นนี้มีโอกาสได้รับภยันตรายได้ง่าย ทั้งจากขั้นตอนการตัดกล้ามเนื้อแมสเซ็ทเตอร์และจากการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ผ่าตัดหลายชนิด ส่วนเส้นเลือดแดงจะอยู่ทางด้านหน้าของขอบกล้ามเนื้อ ดังนั้นการเลาะเนื้อเยื่อหุ้มกระดูก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นเลือดดังกล่าวได้

ข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยศัลยกรรมช่องปาก

1.แก้ไขปัญหารูปหน้าและการสบฟันที่ผิดปกติ
2.ปรับปรุงการสบฟันและการเคี้ยวให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ริมฝีปากหุบได้สนิท
3.ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกเสียงได้ดีขึ้น
4.ป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกรผิดปกติเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขั้นตอนการรักษา

การตรวจวินิจฉัยและการวางแผนการรักษา ทางเลือกในการรักษามีทั้งกรณีจัดฟันก่อนผ่าตัด และผ่าตัดก่อนจัดฟัน
การวางแผนการรักษาล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาประสบความสำเร็จนอกเหนือจากขั้นตอนการรักษาและผ่าตัด โดยพิจารณาจากรูปภาพ แบบจำลองฟัน และภาพถ่ายรังสี
กรณีจัดฟันก่อนผ่าตัด เพื่อให้ได้ฟันที่มีการเรียงตัวและการสบฟันที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดการสบฟันที่ถูกต้องหลังเข้ารับการผ่าตัด และการจัดฟันหลังการผ่าตัดยังคงมีความจำเป็นในทุกกรณีเพื่อแก้ไขการสบฟันที่อาจยังไม่ถูกต้อง สมบูรณ์ หรือเพื่อคงสภาพฟันหลังการผ่าตัด
การจัดฟันก่อนการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี อาจต้องมีการถอนฟันร่วมด้วย หากฟันซ้อนเกมาก การจัดฟันก่อนผ่าตัดจะใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเคลื่อนฟันในแต่ละขากรรไกรไปในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับขากรรไกรนั้นๆ เนื่องจากการสบฟันที่ผิดปกตินั้น ฟันจะล้มเอนตามธรรมชาติไปในแนวที่ปิดบังความผิดปกติของขากรรไกร ดังนั้นการแก้การล้มเอนตามธรรมชาติและจัดเรียงฟันให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องบนแต่ละขากรรไกรก่อนการผ่าตัด มักจะทำให้การสบฟันก่อนผ่าตัดรวมทั้งใบหน้าดูแย่ลงชั่วคราว
เมื่อพร้อมที่จะทำการผ่าตัด จะพิมพ์ปากและเอ็กซ์เรย์อีกครั้งเพื่อจำลองการผ่าตัดในแบบฟัน และเตรียมทำเฝือกสบฟันสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนและหลังการผ่าตัด การผ่าตัดจะกระทำในโรงพยาบาล และผู้ป่วยมักจะต้องพักฟื้น 1-3 วันในโรงพยาบาล และพักต่อที่บ้านอีกประมาณ2-4 สัปดาห์
การจัดฟันหลังการผ่าตัด เป็นการจัดฟันในรายละเอียดเพื่อให้การสบฟันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมากจะใช้หนังยางดึงฟันร่วมด้วย และมักจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 – 3 วันหลังการผ่าตัด ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ภายในสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการบวมหรือฟกช้ำบนใบหน้าซึ่งเป็น

ผลจากการผ่าตัดและผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการจำกัดและควบคุมด้านกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ เช่น การออกกำลังกายภายในหนึ่งเดือนแรกหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของขากรรไกรนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะต้องรอให้ผู้เข้ารับบริการมีฟันแท้ขึ้นมาจนครบเสียก่อน นอกจากในบางกรณีเท่านั้นที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่นกรณีอุบัติเหตุศัลยแพทย์จึงจะทำการผ่าตัดให้ทันที และการผ่าตัดจัดแต่งขากรรไกรในผู้ใหญ่นั้น บางครั้งยังสามารถเป็นศัลยกรรมเพื่อความงามโดยทำร่วมกับการผ่าตัดเนื่อเยื่อบางส่วนเพื่อให้ได้รูปหน้าที่มีความสวยงามมากขึ้นได้อีกด้วย

นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top