การแพทย์ทางเลือก

เมื่อปี 2005 หน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกา National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ได้จำแนกการแพทย์ทางเลือกออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้

1. Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัย และการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมื่อมาช่วยในการบำบัดรักษา และหัตถการต่างๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวช ของอินเดีย เป็นต้น
2. Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กาย และใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น
3. Biologically Based Therapies คือวิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่างๆ เช่นสมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy, Ozone Therapy หรือแม้กระทั้งอาหารสุขภาพเป็นต้น
4. Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ หัตถการต่างๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy, Chiropractic เป็นต้น
5. Energy Therapies คือวิธีการบำบัดรักษา ที่ใช้ พลังงาน ในการบำบัดรักษา ที่สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด

ความจำเป็นของการแพทย์ทางเลือก

1. พัฒนาการของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายของเราเจ็บป่วย แต่โรคเรื้อรังเหล่านี้ยากที่จะรักษาหายได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน หากไม่มีการแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการรักษาควบคู่กันไป
2. ความเครียดในการทำงานหรือการแข่งขันในสังคม ทำให้มีอาการต่างๆ ที่การแพทย์ทั่วไปไม่สามารถสังเกตเห็นหรือไม่สามารถรักษาได้ แต่การแพทย์ทางเลือกกลับมีบทบาทสำคัญในกรณีดังกล่าว
3. ยาทุกชนิด ไม่ว่าเป็นยาแผนโบราณสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันของโลกตะวันตก เมื่อใช้รักษาเป็นเวลานานก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย แต่ก็เป็นโอกาสของการแพทย์ทางเลือกที่ได้แสดงศักยภาพในการรักษาอย่างไร้ผลทางลบ
4. สำหรับโรคเรื้อรัง การรักษาด้วยยาบางทีก็แค่เพื่อยืดเวลาชีวิตหรือผ่อนคลายความเจ็บปวดอย่างชั่วคราวเท่านั้น โดยเชิงลึกแล้วอาจจะเป็นการให้เวลาเชื้อโรคในการระบาดอย่างช้าๆ แต่ไม่อาจจะรักษาโรคได้จากต้นเหตุเลย เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคนอนไม่หลับ โรคหายใจเฉียบพลัน และอาการปวดหัว เป็นต้น และการใช้เป็นเวลานานยังทำให้เกิดดื้อยา ในแง่นี้การแพทย์ทางเลือกก็จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
5. การแพทย์ทางเลือกไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมารักษา และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่อาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ปฏิบัติใช้อย่างง่ายดาย
6. ความประหยัด และความง่ายในการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้
7. ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ต้องการมีวิธีรักษาโรคที่เป็นธรรมชาติ หากรักษาได้โดยไม่ต้องอาศัยการทานยา หรือฉีดยา ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
8. การรักษาด้วยวิธีทางฟิสิกส์แทนที่จะเป็นวิธีเคมีก็เป็นแนวทางการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง และมีศักยภาพที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
9. การรักษาด้วยตัวเองเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก เพราะผู้ป่วยเองจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับต้นสายปลายเหตุของโรคโดยตรง รับรู้สถานการณ์ของการรักษา และสามารถปรับปรุงการรักษาจากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งดีกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาด้วยคนอื่น

หลักในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก

ในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือกควรคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ
1. ความน่าเชื่อถือ โดยดูจากที่ว่าวิธีการหรือองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกชนิดนั้น ประเทศต้นกำเนิดให้การยอมรับหรือไม่ หรือมีการใช้แพร่หลายหรือไม่ ใช้มาเป็นเวลานานแค่ไหน มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร
2. ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่ามีผลกับสุขภาพของผู้ใช้อย่างไร การเป็นพิษแบบเฉียบพลันมีหรือไม่ พิษแบบเรื้อรัง มีเพียงไร อันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมีหรือไม่ หรือวิธีการนั้นทำให้เกิดภยันอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นต้น
3. การมีประสิทธิผล เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หรือมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง มีข้อมูลยืนยันได้ว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งอาจต้องมีจำนวนมากพอหรือใช้มาเป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับ จากการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธีการ เป็นต้น
4. ความคุ้มค่า โดยเทียบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดด้วยวิธีนั้นๆ คุ้มค่าสำหรับผู้ป่วยนั้นๆ หรือไม่ ในโรคที่ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน โดยอาจเทียบกับเศรษฐฐานะของผู้ป่วยแต่ละคน

ธรรมชาติบำบัด

1. ธรรมชาติบำบัด หมายถึง การดูแลรักษา กาย ใจ โดยขบวนการธรรมชาติ ตั้งอยู่บนหลักว่าโรคทุกชนิด ทั้งร่างกาย และจิตใจของคนเรา สามารถเยียวยารักษาตัวเองได้ ถ้าร่างกายอยู่ในสภาพสมดุลปกติ
2. โรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ภูมิแพ้ หืดหอบ ฯลฯ เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ และ รับประทานอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน เช่น เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ยาปฏิชีวนะ หรือรับประทานยาหรือฉีดยาที่ทำจากสารเคมี สารเหล่านี้จะตกค้างอยู่ในร่างกายมาก หรือการใช้ชีวิตที่เครียดเกินไป หักโหมเกินไป กังวลเกินไป ออกกำลังกายไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่เพียงพอ
3. การดูแลสุขภาพของคนเราจะเน้น เรื่องอาหาร การรับประทานอาหารที่ดีก็จะทำให้มีสุขภาพดี สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมของการรับประทานอาหาร Bacteria ไม่มีผลทำให้เกิดโรคต่อร่างกาย การเจ็บป่วยของคนล้วนเกิดจากอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนที่คนเรารับประทานเข้า ไป เรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ต้องเรียนรู้
4. แนะนำให้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ไม่แนะนำให้อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น หมู ปลา ถ้านำเนื้อสัตว์ไปทิ้งไว้ในตู้หลายๆวันก็จะมีกลิ่นเหม็นเน่ามี สารพิษ เหมือนกับ คนที่รับประทานเนื้อสัตว์ไปหมักหมมอยู่ในลำไส้ ร่างกายก็จะได้รับสารพิษนั้นด้วย
5. วิธีการอดอาหารเพื่อล้างพิษ เป็นทางเลือกหลักของวิชาธรรมชาติบำบัด บางคนอาจอดอาหาร 7 วัน บางคนอดอาหาร 14 วัน แต่บางคนอาจต้องอดอาหารถึง 21 วัน แล้วแต่อาการของโรค ก่อนการอดอาหารต้องเตรียมความพร้อมก่อน โดยให้รับประทานผักและผลไม้เพื่อปรับสภาพร่างกาย 3 วัน หลังจากนั้น 4 วันแรก ให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว อีก 3 วัน ต่อมาให้ดื่มน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว และ 3 วันสุดท้าย ให้ดื่มน้ำผลไม้ จากนั้นค่อยๆปรับสภาพร่างกายโดยให้รับประทานผักสดและผลไม้ แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติตามเดิม
6. หากคนเราดูแลเรื่องอาหารการกิน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่รับประทานยา เพราะยาไม่เพียงแต่ ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังทำลายภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ยาแผนปัจจุบันแม้จะช่วยยับยั้งอาการปวดหรืออาการไข้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการกดอาการ ไม่ได้เป็นการรักษาให้หายขาด การรักษาอยู่ที่ตัวของเราเองที่หันมารักษาตามแนวทางธรรมชาติบำบัด

การแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทย เป็นภูมิปัญญาซึ่งบรรพบุรุษของไทยได้สั่งสมสืบทอดกันมายาวนาน มีความพยายามในการธำรงรักษาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติมาตั้งแต่อดีต มีการรวบรวมตำรายาที่ดีและจารึกไว้ในแผ่นหิน ประดับตามผนังศาลาวัดสำคัญต่างๆ เมื่อเริ่มมีการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย การแพทย์แผนไทยยังคงมีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมีการพัฒนาการแพทย์แผนไทยยุคใหม่ เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์” คือการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาประยุกต์เพื่ออธิบายและพัฒนาการแพทย์แผนไทย

ในปี พ.ศ. 2500 มีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพ นับแต่นั้นสมาคมได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันมีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ในปี พ.ศ. 2525 ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัยฯ โดยศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ และคณะเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น อยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กับ พระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้การอบรมศึกษาด้านการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์มาจนถึงปัจจุบัน

ศาสตร์การแพทย์แผนไทยประกอบด้วย

  1. เวชกรรมแผนไทย เป็นการตรวจและรักษาโรคด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
  2. เภสัชกรรมแผนไทย เป็นการปรุงยาและผลิตยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรค
  3. หัตถเวชกรรมแผนไทย เป็นการบำบัดรักษาด้วยหัตถการ
  4. ผดุงครรภ์ เป็นศาสตร์การดูแลหญิงตั้งครรภ์ การทำคลอด การดูแลหญิงหลังคลอด รวมทั้งการดูแลทารกแรกเกิด

การแพทย์แผนไทยประยุกต์ (Applied Thai Traditional Medicine)

การรักษาด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะรวบรวมและประมวลข้อมูลตามแนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่าด้วยเรื่องธาตุ เช่น คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งกล่าวไว้ว่าร่างกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากกองธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ โดยมนุษย์แต่ละคนจะมีส่วนประกอบธาตุต่างๆที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งเป็นใหญ่ เรียกว่าธาตุเจ้าเรือน ของคนๆนั้น  แต่ธาตุเจ้าเรือนซึ่งมีมาแต่เกิดจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ อายุ ฤดูกาล กาลเวลา ถิ่นที่อยู่และมูลเหตุการเกิด โรคที่เกิดจากพฤติกรรม หากเกิดความไม่สมดุลของธาตุที่เป็นองค์ประกอบขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยขึ้น เมื่อแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้การวินิจฉัยโรคแล้ว จะวางแผนการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการดังนี้

  1. การใช้ยาสมุนไพร อาจเป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ยาต้มหรือจ่ายยาสำเร็จรูปที่ผลิตไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล เป็นต้น
  2. การใช้หัตถการ/วิถีทางการแพทย์แผนไทย เช่น การนวด การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การพอกผิว เป็นต้น
  3. การให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและการส่งสริมสุขภาพ เช่น การปฏิบัติตัว การบริหารร่างกาย การรับประทานอาหาร การปรับพฤติกรรม เป็นต้น
  4. กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้แก่
    1. กลุ่มการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแข็งตึง ปวดต้นคอ,คอตกหมอน ปวดสะบัก/บ่า,ปวดไหล่,หัวไหล่ติด ปวดแขน,ข้อศอก,ข้อมือ,ข้อนิ้วมือ,ปวดหลัง,ปวดสะโพก,ปวดขา,ปวดเข่า,เข่าบวม,เหน็บชา,ตะคริวน่อง,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจาการเล่นกีฬา,กล้ามเนื้ออ่อนแรง,กล้ามเนื้อเกร็ง,ปวดข้อเท้า/ส้นเท้า,ข้อเท้าแพลง
    1. ท้องผูก,นอนไม่หลับ,ไข้หวัด,คัดจมูก, หอบหืด,ภูมิแพ้
    1. อัมพฤกษ์ ,อัมพาต
    1. สตรีหลังคลอดน้ำคาวปลาไม่เดิน, คัดตึงเต้านม,น้ำนมไหลน้อย เป็นต้น

การแพทย์แผนจีน (Traditional chinese medicine)

เป็นศาสตร์การรักษาของจีนทีมีมานานกว่าพันปี! ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในประเทศไทยก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่ามีคลินิกแพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลต่างๆ หรือมีโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะเลยทีเดียว

มีการศึกษาทางคลินิกและรับรองจากศูนย์การแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมแห่งชาติ (National center of complementary and integrative health: NCCIH) ว่า การแพทย์แผนจีนนี้เป็นการรักษาทางเลือกที่รักษาอาการได้หลายอย่าง

การแพทย์แผนจีนประกอบไปด้วยวิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น

  1. การฝังเข็ม
  2. การครอบแก้ว
  3. การใช้สมุนไพร

ในบทความนี้จะเน้นที่การฝังเข็มและครอบแก้ว ซึ่งเป็น 2 ศาสตร์ที่นิยมกันมาก

ฝังเข็ม คืออะไร?

การฝังเข็ม (Acupuncture) คือเทคนิคการรักษาที่ช่วยกระตุ้นอวัยวะของร่างกายด้วยการใช้เข็มเล็กๆ แทงผ่านผิวหนังตามจุดเฉพาะต่างๆ ที่มีกว่า 350 จุดทั่วร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลภายใน

สมดุลของร่างกายจะเรียกว่า ฉี (Qi) ซึ่งประกอบไปด้วยพลังหยิน (Yin) และหยาง (Yang) ซึ่งตามแนวทางแพทย์แผนจีนแล้ว ร่างกายที่ไม่สมดุลเป็นสาเหตุของอาการป่วย ปวดเมื่อย หรือไม่สบาย การฝังเข็มก็เป็นไปเพื่อทำให้เลือดลมเดินดี พลังในร่างกายกลับมาสมดุลดังเดิมนั่นเอง

การฝังเข็มใช้สำหรับอาการอะไรบ้าง?

การฝังเข็มอาจมีส่วนช่วยในการไหลเวียนของเลือด แพทย์แผนจีนจึงเชื่อว่าการฝังเข็มสามารถบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ดังนี้

  • บรรเทาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม (คอ หลังส่วนล่าง)
    • บรรเทาอาการปวดข้อเข่า สะโพก เคล็ดขัดยอก
    • บรรเทาอาการเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ
    • บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ปวดใบหน้า
    • บรรเทาอาการภูมิแพ้
    • รักษาสมดุลความดัน
    • รักษาความผิดปกติในกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการก่อนการรักษา ระยะเวลาการรักษา ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ครอบแก้ว คืออะไร

การครอบแก้ว (Cupping) คืออีกหนึ่งเทคนิคการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยใช้แก้วครอบบริเวณแผ่นหลังและเกิดแรงดูดผิวหนัง ทำให้เกิดเลือดคั่ง (Hyperemia) บริเวณเนื้อเยื่อมากขึ้น หรือสามารถใช้ห้ามเลือด (Hemostasis) ก็ได้ กระบวนการนี้อาจช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง และการครอบแก้วสามารถทำได้ทั้งแบบแห้งและแบบน้ำมันอโรม่ากลิ่นหอม

ครอบแก้ว ช่วยอะไร?

การครอบแก้วอาจมีส่วนช่วยในการรักษาได้หลายอย่าง ดังนี้

  • อาจช่วยให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • อาจช่วยลดอาการปวด
  • อาจมีส่วนช่วยบรรเทางูสวัด เริม และสิว
  • อาจมีส่วนช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังจากการออกกำลังกาย

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะยืนยันผลการรักษาที่แน่ชัดของการครอบแก้ว ฉะนั้นการครอบแก้วจึงยังเป็นการรักษาทางเลือก และอาจพิจารณาใช้ร่วมกับการฝังเข็ม

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
ผู้ประพันธ์

Scroll to Top